สัมภาษณ์คนเคียงข้าง ทราย เจริญปุระ โรคซึมเศร้า เราต้องรับมือยังไง?? (คลิป)

ทำไมถึงเศร้าได้ขนาดนี้ ทำไมไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรให้ตัวเองร่าเริง ทำไมอ่อนแอจัง ทำไม ทำไม และทำไม????
สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าการเริ่มต้นด้วยคำถามกึ่งตัดสินคงไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นเท่ากับการ ‘เปิดใจ' ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น โดยเฉพาะคนข้างๆ ซึ่งมีความสำคัญอย่างที่สุด

"ที่ผมอยู่กับเขาได้เพราะเห็นแม่เจอมาแล้ว ยายผมป่วยเป็นโรคนี้เหมือนกันเคสของทรายจริงๆ เขาแค่งอแง แล้วไม่ได้เป็นตลอด เวลาไม่เป็นคือเขาน่ารักไงไลฟ์สไตล์เราตรงกัน คนอะไรชอบดูหนังวันละสามเรื่องสี่เรื่อง ชอบกินเหมือนกันผมมีความสุขที่จะอยู่กับเขา รู้สึกได้รับความรัก ซึ่งมันโอเคที่บางครั้งเขาเป็นขึ้นมาผมก็แค่อยู่ข้างๆ มันไม่ได้หนักหนาอะไร แค่ใจเรายอมรับในสิ่งที่เขาเป็น เข้าใจเขาแต่ไม่ทรีตเขาเป็นคนป่วย" เอกรัตน์ อัศวจามีกร หรือ กอล์ฟ

เล่าให้ฟังในฐานะคนเคียงข้าง ทราย เจริญปุระนักแสดงสาวผู้ไม่เคยรู้สึกอายที่จะยอมรับกับใครๆ ว่าเธอป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเข้าพบจิตแพทย์ และยังต้องกินยา "หมอไม่ล้อ!" ทรายบอกเสียงร่าเริง พร้อมยืนยันว่าคนที่สงสัยว่าตัวเองป่วยหรือไม่ควรไปพบแพทย์ ดีกว่านอยด์ไปเองหรือทิ้งให้อาการป่วยส่งผลกระทบต่อชีวิต

"ผมว่าคนไทยต้องเปลี่ยนความคิดให้ได้ว่าการไปหาจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่าอาย" กอล์ฟเสริม "หรือฟุ่มเฟือย" ทรายแทรก "มันไม่ได้แพงขนาดนั้นค่ะ คุณลองเสิร์ชกูเกิลดูพิมพ์ว่า ‘แผนกจิตเวช' โรงพยาบาลรัฐก็มี เอกชนก็มี ค่าปรึกษาถูกที่สุดคือหลักร้อย"

ก่อนขยับความสัมพันธ์มาเป็น ‘คนข้างกาย'ทั้งคู่รู้จักกันในฐานะเพื่อนเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว กอล์ฟจึงรับรู้เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตทราย ตั้งแต่ขับรถชน อกหัก พ่อแม่ป่วยหรือกระทั่งเรื่องที่ตัวทรายเป็นโรคซึมเศร้า "เราไม่ได้เพิ่งจีบกัน ผมเห็นเขามาตลอดถึงขนาดเคยเข้าไปแซวตอนอกหัก ผมรู้ว่าเขาป่วย แต่ก็รู้ด้วยว่าจริงๆ ทรายเป็นคนยังไงในความปากร้าย ในความอารมณ์รุนแรงของเขา"

กอล์ฟรู้จักโรคซึมเศร้าในระดับหนึ่งแต่เมื่อถึงคราวต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ให้กำลังใจแม่มาเป็นคนที่คอยรับมือกับผู้ป่วยโดยตรง เขาจำเป็นต้องให้เวลากับมัน "หลังผ่านช่วงแรกๆผมพอรู้แล้วว่าเคสของทรายเป็นยังไง ทุกวันนี้คิดว่าสามารถรับมือได้วิธีที่เวิร์กสำหรับทรายคือปล่อยเขา ในลักษณะที่เรายังอยู่ข้างๆ อยู่ในบริเวณที่เขามองเห็น เขาจะโวยวาย จะร้องไห้ ปล่อยเขาขึ้นให้สุดเดี๋ยวเขาจะดาวน์ลงเอง เพราะยิ่งไปบอกว่าเขาป่วยเขาจะยิ่งต่อต้าน เหมือนคุณดูถูกเขาเขารู้ตัวอยู่แล้ว ในความมั่นใจของเขาเขารู้สึกว่ารับมือกับมันได้ ผมแค่คอยประคองวันไหนเห็นเขาแย่มากๆ จะชวนออกไปหาอะไรกิน กินเนื้อย่างไหม เดี๋ยวขับรถให้นั่นคือวิธีของผม"

ทรายอธิบายว่าอาการซึมเศร้าไม่ได้เป็นทุกวัน อาจเปรียบกับแบดเดย์ของคนทั่วไป แต่สำหรับผู้ป่วยแบดเดย์จะถูกคูณเข้าไปอีกรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นต้นเหตุของปัญหาทุกอย่างบนโลกกับเรื่องเล็กน้อยก็จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องมหึมา เธอจึงได้แต่หวังว่าในวันแย่ๆแบบนั้นจะไม่ใช่วันที่ต้องทำงานอย่างจริงจัง "ทุกวันนี้ทรายยังกินยาอยู่ แต่มันจะมีบางวันที่ก้าวร้าว ถ้าต้องออกไปทำงาน ทรายจะอัดน้ำตาล กินๆๆ เพื่อให้มันดีด มีวิธีรับมือข้อหนึ่ง ข้อสอง ข้อสาม กรณีฉุกเฉินต้องทำยังไงคือทรายอยู่กับมันจนเป็นเพื่อนกันไปแล้ว"

ถึงอย่างนั้น ‘เพื่อน' คนนี้ก็ค่อนข้างเอาแต่ใจ "บางทีนั่งดูหนังด้วยกันอยู่ จู่ๆ ทรายถามว่า ‘รักเขาเพราะอะไร' เอาละ คำถามพันล้าน คือมันเป็นคำถามที่ต่อให้ผมตอบถูกแต่ไม่ใช่คำตอบที่เขาอยากได้ยิน มันก็จะผิดทันทีร้องไห้อีก พอเป็นแบบนี้ต้องให้เวลาเขา ปล่อยให้ร้อง ไม่สปอย เหมือนเราเดินไปข้างๆ ถ้าเขาอยากวิ่ง ปล่อยเขาวิ่ง เราไม่วิ่งตาม ไม่วิ่งหนี ไม่หลบสุดท้ายเขาจะเดินกลับมาหาเราเอง พยายามไม่เครียด อย่าใส่อารมณ์กับเขา อย่าไปคิดว่าเป็นอีกแล้ว เพราะมันทำให้พังทั้งคู่ เขาไม่ดีขึ้น เราเองก็รู้สึกแย่ ถ้าเขาเริ่มดาวน์ผมถึงเข้าไป"

ทรายบอกผู้ป่วยทุกคนไม่มีใครอยากป่วยหรืออยากถูกทรีตเป็นคนป่วย วิธีที่ดีที่สุดคือปฏิบัติกับคนป่วยอย่างปกติ ใครที่มีคนใกล้ตัวเป็นโรคซึมเศร้า และ (เน้นเสียง) เขาไปหาหมอแล้ว ขอให้อดทนกับเขาประมาณ 2-3 สัปดาห์ อาการต่างๆ จะเริ่มเสถียร "ถ้าเพื่อนจะฟูมฟายไปบ้าง เงียบๆ ไปบ้าง นิสัยเปลี่ยนนิดหน่อย คิดซะว่าเพื่อนมีแฟน ชวนไปกินข้าวตามปกติ ถ้าเขาไม่อยากออกไปไหน เอ่อดีแล้ว ข้างนอกร้อน เดี๋ยวซื้อมาฝาก ใช้วิธีนี้เลย ไม่ต้องโอ๋หรือต่อต้านเป็นพิเศษ" เธอแนะนำ

แต่แน่นอนสำหรับคนที่ต้องคอยดูแลผู้ป่วยย่อมแบกรับความเครียดเอาไว้เช่นกัน กอล์ฟบอกเขาโชคดีที่เป็นคนไม่ค่อยเครียดและชอบออกกำลังกาย จึงใช้การวิ่งเพื่อคลายเครียดซึ่งตอบโจทย์กับการที่ทรายเป็นคนชอบกิน บวกกับความใกล้ชิดของครอบครัว เขามักพูดคุยกับพ่อแม่อยู่เสมอทำให้ได้ระบายเรื่องไม่สบายใจต่างๆ ออกไป

"อย่างที่บอกว่าเขาไม่ได้เป็นทุกวัน การที่ผมอยู่กับเขา ทำสิ่งดีๆ ให้เขา ทำให้สิ่งที่เขาเป็นยิ่งน้อยลง ผมมองว่าคนข้างๆ สำคัญที่สุด ไม่ว่ากับคนที่ป่วยหรือไม่ป่วยก็ตาม การได้พูดคุยกับใครสักคนหรือกับพ่อแม่มันช่วยได้เยอะครับ" กอล์ฟทิ้งท้าย

สัมภาษณ์คนเคียงข้าง ทราย เจริญปุระ โรคซึมเศร้า เราต้องรับมือยังไง?? (คลิป)

รับชมคลิปวิดีโอได้ที่นี่
VVVV
VVV
VV
V


ที่มา : Workpoint


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์