โดยชาวบ้าน เล่าว่า เห็นนักท่องเที่ยวรายนี้กระโดดน้ำอยู่ตรงโขดหิน 2-3 รอบ กระทั่งมีนักท่องเที่ยวบริเวณชายหาดได้ยินเสียงขอความช่วยเหลือ เมื่อเข้าไปดูพบว่าที่ขามีบาดแผลเหวอะหวะ มีเลือดไหล จึงเข้าไปช่วยกันนำร่างนักท่องเที่ยวรายนี้ส่งโรงพยาบาล โดยระหว่างช่วยกันพยุงร่างนักท่องเที่ยวระบุว่าถูกปลาทำร้าย จนชาวบ้านและนักท่องเที่ยวเข้าใจว่าถูกฉลามกัด
ทั้งนี้ ตำรวจท่องเที่ยวหัวหิน ได้รายงานผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ว่า หลังทราบเรื่องได้เดินทางไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บ พบว่าเป็นชายชาวนอร์เวย์ มีภรรยาเป็นคนไทย ซึ่งแพทย์ทำแผลและตรวจดูรักษาอาการอยู่ที่โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน ขณะนี้สภาพจิตใจดี ปลอดภัยดี และได้กล่าวขอบคุณชาวไทยทุกคนที่ให้การช่วยเหลือ
นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่านักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บจากสาเหตุอะไร นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบว่าเป็นฉลามชนิดหัวบาตร และฉลามหูดำ แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถสรุป ส่วนภาพปลาฉลามเคยมีชาวประมงถ่ายภาพไว้เมื่อปีที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้ได้ประสานงานไปยังกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตำรวจท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลเมืองหัวหิน ในการร่วมกันเฝ้าระวัง แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวในช่วงระหว่าง 1-2 สัปดาห์นี้ ที่ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัด ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวไม่ลงเล่นน้ำเกินกว่าระยะ 20 เมตร หรือลงเล่นน้ำลึก พร้อมกันนี้จะติดป้ายเตือนนักท่องเที่ยวเพิ่มการระมัดระวังตัวขณะลงเล่นน้ำ
ด้านนายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่แล้ว ซึ่งขณะนี้เรายังไม่สามารถระบุได้ว่า นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ได้รับบาดเจ็บนั้นเกิดจากของมีคมที่อยู่ในทะเล หรือเกิดจากสัตว์ทะเลกัดหรือไม่ โดยทางกรมทรัพยากรฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ต้องมีการตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัด เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
ขณะที่ ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า เห็นจากสภาพเลือดของชาวต่างชาติแล้ว สันนิษฐานว่าไม่น่าจะเกิดจากตัวเพรียง แต่น่าจะเป็นรอยจากฉลามหูดำมากกว่า ซึ่งเชื่อว่าฉลามดังกล่าว ไม่ได้ตั้งใจกัดคน แต่อาจคิดว่าเท้าของนักท่องเที่ยวเป็นปลา จึงลองงับดูเท่านั้น
ทั้งนี้ แม้ฉลามหูดำจะน่ารักเหมือนแมว ไม่ดุ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่กัดใคร ก็เหมือนหมาแมวที่น่ารักก็กัดคนเช่นเดียวกัน และฉลามทุกตัวทุกชนิดมีฟันแหลมคมทั้งสิ้น เมื่อกัดใครย่อมมีเลือดออกมากเสมอ แต่อย่างไรก็ตาม อย่าไปกลัว เรื่องแบบนี้นาน ๆ เกิดขึ้นสักครั้ง ในประเทศไทยโอกาสที่จะถูกฉลามกัดมีแค่ปีละครั้งเท่านั้น หรือมีสัดส่วนแค่ 1 ต่อ สองร้อยล้านครั้งต่อปี และยังยืนยันว่า ฉลามหูดำไม่ใช่ฉลามอันตราย และไม่ได้ทำร้ายคน
การท่องเที่ยวทะเลไทยยังมี 6 อย่าง ที่อยากจะเตือนนักท่องเที่ยว ซึ่งน่ากลัวกว่าฉลามและต้องระวังมาก ๆ ประกอบด้วย
1.เรือเร็ว หรือสปีดโบ้ท โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุถูกเรือเร็วชนมีมากกว่าถูกฉลามกัดหลายเท่า ซึ่งสถิตินักท่องเที่ยวถูกเรือชนตายระหว่างเล่นน้ำมีอย่างน้อยปีละ 2 คน และได้รับบาดเจ็บสาหัสปีละหลายคน
2. แมงกะพรุนกล่อง ที่ตอนนี้เพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ พบอยู่หลายหาด ที่ผ่านมามีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสัมผัสแล้วหลายร้อยคน
3. การเหยียบขยะทะเล โดยเฉพาะแก้ว หรือวัตถุแหลม ๆ แต่ละปีพบผู้ได้รับบาดเจ็บเรื่องนี้ไม่ใช่น้อย
4. ปลากระเบนตัวเล็ก ๆ ที่เรียกว่า ปลาจ้องม้อง ซึ่งมักจะอยู่ตามหาดทรายน้ำตื้น ๆ หากไปเหยียบหรือทำให้ตกใจอาจจะถูกเงี่ยงแทงเอาได้
5. สิ่งมีพิษตามแนวปะการัง ไม่ว่าจะเป็นหอยเม่น หรือปะการังไฟ
6. การดำน้ำแบบตื้น ถ้าไม่รู้วิธีที่ถูกต้อง ก็อาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Pintara Pradabmuk ได้โพสต์เกร็ดความรู้เกี่ยวกับฉลามหัวหินในกลุ่ม siamensis.org ว่าฉลามที่ว่ายอยู่หน้าวัดแห่งหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในคลิป นั่นคือ ฉลามหัวบาตร เป็นฉลามที่โจมตีมนุษย์ ได้จริง !!! แต่มักเลือกที่จะหนีมากกว่าโจมตี ฉลามในคลิปถือว่าถือว่าเล็กมาก สำหรับฉลามที่จะโจมตีมนุษย์ได้ต้องมีขนาด 3 เมตรขึ้นไป
ฉลามไม่ใช่สัตว์อันตราย มันขี้อาย ขี้ตกใจ ขี้ระแวงเท่านั้นเอง ฉลามหัวบาตรเป็นฉลามที่อยู่ได้ทุกรูปแบบแม้กระทั้งน้ำจืด ดังนั้นเมื่อมีฉลามมา เราควรดีใจแทนระบบนิเวศน์บ้านเราด้วยซ้ำ สิ่งที่ควรทำคือ เมื่อรู้ว่ามีฉลามในทะเลหัวหินจะไปฝืนเล่นน้ำทำไม มานั่งเรือดูมันล่าปลาเล็ก ๆ ดีกว่า เพราะโอกาสแบบนี้ อยู่แค่ไม่นาน และไม่แน่ว่าในอนาคต จะมีปรากฏการณ์นี้ให้ท่านเห็นอีกหรือเปล่า