ชอร์ตฆ่าหมู่ปลาต่างถิ่น สหรัฐปล่อยกระแสไฟลงน้ำจนดิ้นพล่าน(คลิป)
ซีเอ็นเอ็น รายงานคลิปภาพการกำจัดปลาเอเชียน คาร์ป หรือปลาคาร์ปธรรมดา หรือปลาไน ของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสหรัฐ ในรัฐเคนทักกี ของสหรัฐอเมริกา เพราะถือว่าเป็นสัตว์รุกรานต่างถิ่น และเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำลายระบบนิเวศ โดยกรมประมงและทรัพยากรสัตว์ป่าของรัฐเคนทักกีใช้เรือปล่อยกระแสไฟฟ้าในน้ำ
คลิปภาพนี้เผยให้เห็น ปลากระโดดขึ้นมาเหนือน้ำทันทีที่เรือปล่อยกระแสไฟฟ้าลงไปในน้ำด้านล่างเขื่อนบาร์กลีย์ หลังจากนั้นไม่กี่วินาทีปลาก็แน่นิ่งไป
วิธีนี้มักใช้ควบคุมปริมาณปลาแต่ไม่ได้ทำให้ปลาตายทันที พวกมันเพียงแต่ช็อกชั่วคราว ทำให้ใช้สวิงช้อนขึ้นเรือได้ง่าย จากนั้น จึงนำปลาไปขายเพื่อทำปุ๋ยหรือเหยื่อตกปลา รวมทั้ง แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ สำหรับบริโภค
ปลาไน Asian Carp ในสหรัฐถูกนำเข้ามาโดยชาวประมงเลี้ยงปลาดุกนำมาเลี้ยงเมื่อ 40 ปีก่อนเพื่อช่วยกำจัดสาหร่ายที่มีมากเกินไปในฟาร์มเลี้ยงปลาเชิงพาณิชย์ รวมทั้ง นำพวกมันไปขายในตลาดชุมชนชาวจีน แต่ปลาไนเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว และว่ายหนีออกนอกกระชังปลาไปในแม่น้ำสายต่างๆ เช่น มิสซิสซิปปี อิลลินอยส์ และมิสซูริ ซึ่งกินอาหารของปลาชนิดอื่นๆ ในระบบนิเวศ
ส่วนจุดอ่อนของปลาคาร์ปธรรมดา คือ เสียง ถ้ามีเสียงเครื่องยนต์เรือรบกวนในน้ำ พวกมันก็จะว่ายหนีไปหรืออาจะกระโจนได้สูงถึง 10 ฟุตเลยทีเดียว จึงเป็นอันตรายแก่เรือประมงเพราะอาจสร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์ตกปลาหรือทำอันตรายชาวเรือ
หากมันกระโดดขึ้นมาบนเรือและกระแทกชาวประมง อาจทำให้กระดูกร้าวได้ หรืออย่างน้อย ถ้าปลาไนกระโดดขึ้นเรือ ก็จะพ่นเลือดและเมือกออกมาเต็มพื้นเรือ เมื่อพวกมันเครียด
รัฐเคนทักกีและเทนเนสซีจึงร่วมกันหาวิธีการควบคุมปริมาณปลาไนเพื่อพิทักษ์ทะเลสาบเคนทักกีและบาร์กลีย์ เนื่องจากทะเลสาบทั้ง 2 แห่งนี้มีความสำคัญมากต่อการท่องเที่ยวเพราะเป็นแหล่งตกปลาเพื่อสันนาการและการล่องเรือที่สร้างรายได้ให้กับทั้ง 2 รัฐกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี
กรมประมงจึงเริ่มโครงการทดลองเพื่อไม่ให้ปลาไนว่ายเข้าไปในทะเลสาบบาร์กลีย์โดยใช้รั้วปล่อยเสียงชีวภาพด้วยฟองอากาศ แสง และเสียง ซึ่งวิธีนี้นำมาใช้ทางตะวันตกของสหรัฐฯ และยุโรปแล้ว เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการอพยพของปลาแซลมอน แต่ยังไม่เคยใช้กับปลาไน หากวิธีนี้ได้ผลดี รัฐอื่นๆ ก็นำไปใช้ควบคุมปลาไนได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ยัังมีอีกวิธีหนึ่ง โดยให้นักตกปลามาตกปลาไนเพื่อลดประชากรปลาเหล่านี้โดยคาดว่าจะลดจำนวนได้ประมาณ 2,267,962 ก.ก. ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไปด้วยในตัว