เปิดใจ ดร.สุภาภรณ์ เผยแผนล่าค้างคาวหาเชื้อโควิด-19
เปิดใจ "ดร.สุภาภรณ์" เผยแผนล่าค้างคาวหาเชื้อโควิด-19 ลั่น 2 ถ้ำในไทยไม่พบค้างคาวมงกุฏ
รายการ "เรื่องลับมาก (NO CENSOR)" ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 14.20 - 15.00 น. ทางเนชั่นทีวี ช่อง 22 วันนี้ (15 มิ.ย.) "ดร. เสรี วงษ์มณฑา" เปิดใจสัมภาษณ์ "ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี" จากศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรณีลุยจับค้างคาวมงกุฏ ครั้งแรกในไทยปักกิ่งมีเรื่องการติดโควิดมาจากแซลมอน ใช่มั้ย?
"ไม่ใช่ค่ะ คือจากการลงพื้นที่ของทางทีมปักกิ่งประเทศจีน พบว่าเชื้อที่พบอยู่บนเขียงที่เขาชำแหละปลาแซลมอน ซึ่งมันสันนิษฐานมาได้หลายช่องทาง ช่องทางที่หนึ่งคือเป็นแซลมอนที่อิมพอร์ตเข้ามาและปนเปื้อน ตกค้างอยู่บนเขียง หรืออาจจะเกิดจากเชื้อที่อยู่ในคนชำแหละ มีดก็ได้ค่ะ แต่มีดก็ต้องมาจากที่อื่นอยู่ดี เพราะมีดเพาะเชื้อไวรัสไม่ได้ ไวรัสไม่สามารถอยู่ในมีดได้โดยลำพัง"
"ตัวปลาติดโควิดไม่ได้ โดยหลักการทางวิทยาศาสตร์ เพราะเขาเป็นสัตว์น้ำ ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เหมือนคน ค้างคาว พวกเราจะมีตัวรับเชื้อไวรัส ซึ่งปลาไม่มี ปลาใช้เหงือก ไม่มีปอด เซลล์เหล่านี้อยู่ในปอด ไม่ได้อยู่ในเหงือก โอกาสที่ปลาอะไรก็ตามจะเป็นตัวอมโรค แพร่โรคให้กับคนเป็นไปไม่ได้เลย"
การที่ไม่มีปอด มีแต่เหงือก เป็นสิ่งยืนยันได้ว่าแซลมอนติดเชื้อโควิดไม่ได้?
"ใช่ค่ะ ตัวปลาแทบจะศูนย์เลย ที่จะเป็นตัวเพาะโรค แพร่โรค และติดต่อมาสู่คน ฉะนั้นถ้าเราทานปลาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้เรื่องความสะอาด ก็สามารถทานปลาดิบได้ และคนแล่ของไทยต้องใส่แมสก์ ใส่ถุงมือด้วยนะคะ"
นึกยังไงถึงไปถ้ำค้างคาวที่จันทบุรี?
"จริงๆ ที่จันทบุรี เป็นสถานที่ที่เรามีงานวิจัยก่อนมีโควิด-19 อยู่แล้ว เรามีงานวิจัยค้นหาเชื้อไวรัสใหม่ๆ ในค้างคาวทั่วประเทศ ปีที่แล้วเดือนพ.ย. จันทบุรีก็เป็นสถานที่ที่เราไปเก็บตัวอย่าง"
อะไรเป็นข้อมูลที่ต้องไปศึกษาจากค้างคาว?
"ทีมของจุฬาลงกรณ์ ทีมของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชและคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาตร์ เราทำเรื่องเชื้อไวรัสใหม่ๆ ในค้างคาวมา 20 ปีแล้วค่ะ แต่ตอนนั้นยังไม่มีเกี่ยวกับโควิด พวกเราก็พบว่าเชื้อโคโรน่าไวรัสสามารถพบในค้างคาวได้มากมายมหาศาล มีมาตั้งนานแล้ว อยู่ในค้างคาวอยู่แล้ว แต่ไม่เรียกว่าโควิด แต่เราก็เรียกว่าโคโรโน่าไวรัส สายพันธุ์แอลฟ่า เบต้า อะไรก็ว่ากันไป"
ตอนเข้าไปต้องเตรียมตัวยังไง?
"สมัยก่อนเราไม่ค่อยรู้ เราก็แต่งตัวธรรมดา แต่พอเรารู้ว่าค้างคาวเป็นตัวอมโรค ไวรัสใหม่ๆ เยอะเลย เราใส่ชุดหมีขาวๆ เลยค่ะ เหมือนที่เวลาเราใช้ใส่เก็บตัวอย่างผู้ป่วย ปิดหัวปิดท้าย แล้วก็ใส่แมสก์แบบ N95 ป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ใส่แว่นตา ไปกันเยอะค่ะ เพราะการหาเชื้อไวรัสจากค้างคาว ต้องมีทีมไปจับในถ้ำ หนูไม่มีปัญญาค่ะ (หัวเราะ) ไม่มีแรงพอที่จะปีนขึ้นไปบนเขา เป็นทีมของกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ปีนเพื่อไปจับ นี่เรียกว่าทีมจับ ทีมที่สองคือทีมจำแนกชนิดของค้างคาว ต้องระบุให้ได้ว่าเป็นชนิดไหน เป็นทีมวนศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ ประเทศไทยมีค้างคาวตั้ง 140 สปีชีส์ เขาแยกได้หมดเลยค่ะ พวกหนูเป็นทีมเจาะเลือดค้างคาว เป็นเทคนิคการแพทย์ เก็บน้ำลาย เก็บขี้ค้างคาวมาตรวจในห้องแล็ปค่ะ"
เข้าไปในถ้ำลึกแค่ไหน?
"ส่วนใหญ่อยู่นอกถ้ำ เรารอให้เขาบินออกมา เราพยายามไม่รบกวนค้างคาว ให้เขาบินออกมาโดยธรรมชาติ นั่นคือทำไมเราถึงทำงานเลิกตีสอง เราไปที่หน้าถ้ำประมาณหกโมงถึงหนึ่งทุ่ม รอให้เขาบินออกมา"
จับยากมั้ย?
"แล้วแต่ชนิดของค้างคาวและปริมาณของค้างคาว ถ้าเป็นราชบุรีที่เราชอบไปเที่ยวดูค้างคาว อันนั้นมีค้างคาวเป็นล้านตัว จะมีลักษณะเป็นถ้ำ จับง่าย"
ตอนเกิดโควิด หลายคนพุ่งเป้าไปที่ค้างคาว เรื่องอู่ฮั่นมีข่าวเรื่องค้างคาว ทำให้ศึกษาเรื่องนี้หรือเปล่า?
"เป็นส่วนหนึ่งค่ะ เป็นเหตุที่ทำให้เราศึกษาเพิ่มเติม เพราะที่อู่ฮั่น ทำวิจัยและพบว่าไวรัสที่พบในค้างคาวมงกุฏมีลักษณะตัวรหัสพันธุกรรมเหมือนไวรัสที่พบในตัวผู้ป่วยถึง 96 เปอร์เซ็นต์ ก็เลยเป็นจุดเชื่อมโยงว่าโรคนี้น่าจะเป็นต้นตอมาจากค้างคาวและเป็นโรคจากสัตว์สู่คนก่อนที่จะแปลตัวเองมาเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คนอย่างทุกวันนี้"
"จริงๆ หนูตั้งใจไปทุกถ้ำค่ะ แต่ที่ราชบุรี เราศึกษามาเกือบ 10 ปีแล้ว เราไปต่อเนื่อง ไปจนพรุนแล้ว จริงๆ ที่ราชบุรีเราเรียกว่าค้างคาวปากย่น แต่ว่าค้างคาวที่เป็นต้นตอ พบเชื้อคล้ายโควิด-19 ชื่อค้างคาวมงกุฏ ณ ตอนนี้หนูกำลังศึกษาว่าถ้ำไหนบ้างที่มีค้างคาวมงกุฏอยู่ ตัวที่ราชบุรี ที่เราไปสำรวจเมื่อ 10 ปีที่แล้ว รวมทั้งเมื่อปีที่แล้ว ยังไม่เจอค้างคาวมงกุฏ เป็นที่มาว่าแหล่งใหม่ที่เราศึกษาที่จันทบุรี เราเลยจะไปดูเพิ่มเติม ซึ่งก็ไม่เจอค่ะ สามคืนที่เราไปจับค้างคาว"
แสดงว่าพันธุ์เดียวที่เกิดเหตุที่อู่ฮั่นไม่ได้อยู่ที่เรา?
"มีค่ะ แต่อาจอยู่ที่อื่น แต่สองถ้ำที่ไปไม่มี ก็เป็นภารกิจของกรมอุทยาน ที่เขาจะไปดูว่าถ้ำไหนบ้างในประเทศไทยที่มีค้างคาวมงกุฏ และเก็บตัวอย่างมาตรวจที่ห้องแล็ป"
"โดยหลักการแล้วต่อ 1 สถานที่ 1 ครั้งที่จับ ต้องมีอย่างน้อย 100 ตัว เพื่อให้ได้จำนวนมากเพียงพอที่จะยืนยันว่าถ้าตรวจไม่พบ คือไม่พบจริงๆ ไม่ใช่ไม่พบเพราะจำนวนไม่พอ แต่รอบนี้ที่จันทบุรี เนื่องจากเราไป 3 คืน เราเลยจับมา 200 ตัว พบค้างคาว 5 ชนิดแต่ไม่มีค้างคาวมงกุฏค่ะ แต่อย่างไรก็ตาม ค้างคาว 5 ชนิดที่เก็บมาก็จะตรวจหาเชื้อโคโรน่า เพื่อดูว่ามีโคโรโน่แบบโควิดหรือเปล่าในสายพันธุ์ค้างคาวอื่นเพื่อความสบายใจ ซึ่งตอนนี้กำลังตรวจค่ะ"
สมมติถ้าเจอ ได้มองไปข้างหน้าเลยมั้ย กระบวนการต้องทำอะไรถ้าเจอโควิดในค้างคาวพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่งในประเทศไทย?
"เรามีกระบวนการ มีแผนงานอยู่แล้วค่ะ ถ้าพบในค้างคาว สิ่งที่ต้องดูต่อไปคือในสิ่งแวดล้อมในที่นั้นๆ ไม่ว่าจะคนหรือสัตว์เลี้ยง มีคนที่สัมผัสหรือติดเชื้อจากค้างคาวหรือไม่ แล้วมีกระบวนการเก็บตัวอย่างในสัตว์เลี้ยงในคนเพื่อตรวจดูว่ามีเชื้อไวรัสหรือมีประวัติการติดเชื้อไวรัสในค้างคาวหรือไม่ นี่เป็นเรื่องกระบวนการว่ามีเชื้อในต้นตอ และมีคนติดเชื้อหรือไม่ ให้การประชาสัมพันธ์เรื่องการไม่สัมผัสใกล้ชิดกับค้างคาว ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าเรื่องการกิน การเข้าไปท่องเที่ยวโดยไม่มีอุปกรณ์ปกปิดค่ะ"
ผล 200 ตัวจะออกมาเมื่อไหร่?
"คิดว่าอย่างน้อยต้องรอ 1 สัปดาห์ค่ะ"
ไม่ควรกินค้างคาว ถ้ากินแล้วเป็นยังไง?
"อร่อยหรือไม่หนูไม่รู้ แต่เรื่องสุขภาพ ถ้าปรุงให้สุกก็ถูกต้องในเรื่องไวรัสตาย แต่คนมีความเสี่ยงสูงสุดคือคนปรุงและคนล่า การชำแหละค้างคาวโดยมือเปล่า ถ้ามือมีบาดแผล เชื้อจากไวรัสไม่ว่าจากขี้ค้างคาว จากอวัยวะ จากเลือด ก็สามารถเข้าสู่ตัวเราได้ อาจเป็นโรคใหม่ที่ไม่ใช่โควิดก็ได้ค่ะ"
"แปลว่าเชื้ออยู่ในค้างคาว แต่ค้างคาวไม่เป็นโรค แต่เมื่อค้างคาวเอาเชื้อไปให้คนอื่น หรือสัตว์ชนิดอื่น ซึ่งเป็นมือสองในการรับโรค อาการจะเพิ่มทวีรุนแรงมากขึ้น ค้างคาวมีเชื้อแต่ไม่ป่วย ซึ่งงานวิจัยทั่วโลก พบว่าค้างคาวอมโรคที่นำสู่คนได้อย่างน้อย 60 ชนิดแล้วค่ะ"
"จริงๆ ก็อยู่ที่ชนิดของค้างคาวและสถานที่ หลักๆ เราจับค้างคาวด้วยตะข่าย ดักให้ค้างคาวติดตะข่ายแล้วปลดเขาออกมาอย่างนุ่มนวล และใส่ถุงผ้าขาวๆ หนึ่งตัวหนึ่งถุง เป็นถุงผ้าฝ้าย ผ้าคอตตอลที่เขาสามารถหายใจได้ แล้วเอาค้างคาวที่อยู่ในถุงมาห้องแล็ปชั่วคราวที่อยู่ในพื้นที่ เก็บตัวอย่าง เจาะเลือด เขายังมีชีวิต เราไม่ฆ่าเขา เก็บน้ำลายค้างคาว เก็บขี้ค้างคาว ถ้าเขาไม่ขี้ ก็เอาไม้พันสำลีขนาดเล็กสุดสวนไปที่ก้นและเก็บขี้ค้างคาวออกมา พอได้ทุกอย่างก็ปล่อยทันที ไม่ให้ค้างคาวอยู่ในถุงเกิน 2-3 ชม. เพราะถ้าอยู่นานเกินไป เขาจะเพลียและเสียชีวิตได้"
ทุกตัวที่เอามาต้องได้อะไร?
"ต้องได้ 3 อย่าง หนึ่งน้ำลาย สองขี้ค้างคาว สามเลือดค่ะ"
ถ้าจับมา 200 ต้องทำทั้ง 200?
"ใช่ค่ะ แล้วก็ปล่อยเขาไปค่ะ"
โรคที่พวกเราคุ้นเคย ที่ค้างคาวอมเอาไว้ โรคอะไรบ้าง?
"เป็นโรคอุบัติใหม่ทั้งหมดและทำให้เสียชีวิตสูงๆ คือโรคอีโบล่า โรคมาร์เบิร์ก ซึ่งเป็นพี่น้องอีโบล่า เกิดขึ้นจากแอฟริกา โรคซาร์ส โรคสมองอักเสบนิปาห์ ที่ทำให้เกิดโรคระบาดที่มาเลเซีย บังคลาเทศ และอินเดีย โรคเอ็นดร้า ทำให้ม้าป่วย และทำให้สัตวแพทย์ป่วย พบที่ออสเตรเลีย โรคเมอร์ส"
โรคเหล่านี้ติดต่อสู่คนได้ยังไง?
"จริงๆ โรคอยู่ในค้างคาวอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่มาสู่คนได้เพราะเราไปยุ่งกับเขา ยุ่งโดยตรงและโดยอ้อมยกตัวอย่างโรคสมองอักเสบนิปาห์ เราไปบุกรุกพื้นที่ป่า ไปเพาะทำฟาร์มหมูใกล้ๆ พื้นที่ป่า ทำให้หมูกับค้างคาวใกล้ชิดกัน และค้างคาวก็ถ่ายทอดมาสู่หมู คนชำแหละหมูก็ติดจากหมู และการบริโภค อาจไม่ได้กินโดยตรง ยกตัวอย่างซาร์ส ค้างคาวมาอยู่ในตลาดค้าของป่า ร่วมกับตัวอีเห็น แล้วไวรัสซาร์สจากค้างคาวติดมาสู่อีเห็น คนก็ไปบริโภคตัวอีเห็น แล้วก็มีเรื่องของไปกินน้ำอินทผลัมสด ที่อินเดียกับบังคลาเทศ เขานิยมดื่มน้ำตาลจากต้นอินทผาลัม เขาจะปาดแล้วให้มันหยดๆ ที่นั่นค้างคาวก็บินและเลีย เขาจะเก็บตอนกลางคืน ค้างคาวที่ชอบน้ำหวานก็ไปเลีย ไปฉี่รด ที่นั่นเขามีวัฒนธรรมการบริโภคสดๆ เก็บตอนกลางคืน ตอนเช้าก็เอามาขาย แล้วก็ติดเชื้อจากตรงนี้ ติดโดยตรงเหมือนกัน"
"ที่เมืองไทยยังไม่มีกรณีที่คนติดเชื้ออะไรๆ จากค้างคาวค่ะ แค่มีงานวิจัยว่าเราเจอเชื้อที่สามารถนำโรคจากค้างคาวสู่คนได้ แต่ยังไม่มีค่ะ พวกเราก็โชคดีค่ะที่เราพบค้างคาวที่เป็นสัตว์อมโรคในประเทศเรา แต่ยังไม่มีการแพร่สู่คนค่ะ"
การไปเที่ยวถ้ำดูค้างคาวยังทำได้ต่อไป?
"ทำได้ต่อไปค่ะ แต่ขอให้ระมัดระวังมากขึ้นค่ะ"