หมอดื้อย้ำ ต่อให้มีผลข้างเคียงก็ต้องฉีดวัคซีน คนและอุปกรณ์ไม่พอ
หมอธีระวัฒน์ หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ เผยต่อให้วัคซีนซิโนแวค เจอคนเป็นอัมพฤกษ์ ยังไงก็ต้องฉีด ชี้เป็นเฉพาะล็อต - รู้สาเหตุผู้หญิงเจอผลข้างเคียง เพราะอยู่ในช่วงมีประจำเดือน
รายการ โหนกระแส วันที่ 26 เมษายน 2564 สัมภาษณ์ "ศ. นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา" หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กรณีวัคซีนซิโนแวค ตอนนี้ฉีดไปถึงขั้นมีคนเสียชีวิตแล้ว รวมทั้งเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ เครื่องช่วยหายใจที่ขาดแคลนอย่างหนัก จะแก้ไขอย่างไร
เรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขาดแคลนมาก ?
นพ.ธีระวัฒน์ : ต้องเรียนให้ทราบว่าเวลาที่เราดูคนไข้ คงไม่ใช่เตียง ไม่ใช่อุปกรณ์ ไม่ใช่สถานที่อย่างเดียว เราพูดถึงคน และตรงนี้ไม่ใช่หมออย่างเดียว ประกอบไปด้วยทีม ทีมหมอดูโควิด 19 รายเดียว ไม่ใช่มีหมอคนเดียว ต้องมีหมอช่วยชีวิตทางปอด ทางหัวใจ มีอาการทางไตร่วมด้วย ขณะเดียวกันต้องมีทีมน้อง ๆ พยาบาล ทีมเภสัชกร แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ทำความสะอาด ทุกคนต้องร่วมมือทุกอย่าง ตรงนี้จะเห็นว่า 1 คนที่เข้าไปต้องใช้ทรัพยากรบุคคลมหาศาล
ขณะเดียวกันตอนนี้ที่เราบอกว่าเรามีเตียงสนาม ฮอสพิเทล (Hospitel) ต่าง ๆ คัดกรองว่าใครมีอาการหนักขึ้น พออาการหนักขึ้นก็ทยอยมาโรงพยาบาล ซึ่งแน่ใจว่าทุกแห่ง เตียงมีความพร้อมต่าง ๆ นั้น อย่าลืมว่าเราต้องรักษาและช่วยชีวิตคนไข้คนอื่นที่ไม่ใช่โควิด อย่าง รพ.จุฬาฯ เมื่อเช้าพูดคุยกับหัวหน้าภาคอายุรศาสตร์เอง เตียงขณะนี้ของอายุรศาสตร์หดเหลือครึ่งหนึ่งหรือน้อยกว่าเพื่อรองรับโควิด-19 ขณะเดียวกันบุคลากรตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ประจำบ้าน อาจารย์ต่าง ๆ ก็ระดมไปช่วยเหลือ ตรงนี้เวลาเราพูด เราไม่ได้พูดถึงเตียงนอน เตียงสนาม เราพูดถึงภาวะต่อไปที่จะเกิดขึ้นในโรงพยาบาล
นพ.ธีระวัฒน์ : ตอนนี้มีปัญหา เคยนำเรียนเมื่อประมาณ 8-9 ปีที่แล้วด้วยซ้ำ ตอนนั้นมีปรากฏการณ์เรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ มีเรื่องไข้หวัดนก ตอนนั้นเราได้รับทราบมาว่ามีเครื่องช่วยหายใจขนาดเท่าฝ่ามือ หรือไม่ก็ขนาดเท่าหมอหุ้งข้าวเล็ก ๆ
มันพอเหรอ ?
นพ.ธีระวัฒน์ : มันพอครับ เครื่องเหล่านี้ไม่ต้องต่อสายออกซิเจน ไม่ต้องมีท่ออะไรต่าง ๆ แต่ใช้แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย 2 ก้อน เสียบปลั๊กเอาก็ได้ ขณะเดียวกัน ถ้าคนไข้หายใจไม่ได้ ใส่ท่อหายใจก็ใช้ตรงนี้ต่อเข้าไปเลย เมื่อต่อเข้าไปแล้วสามารถปรับออกซิเจนได้ โดยคัดกรองไนโตรเจนออกไป ขณะเดียวกันสามารถกำหนดได้ว่าจะปั๊มอากาศเข้าไปกี่ ซี.ซี. ต่อนาที สามารถเพิ่มความดันไม่ให้ถุงลมแฟบได้ เครื่องเหล่านี้เท่าที่ทราบ ประเทศสิงคโปร์มีการเตรียมการไว้สักหมื่นเครื่องด้วยซ้ำเพื่อรับไข้หวัดนก แต่ของเราเองก็เข้าใจ เมื่อถึงเวลาที่โรงพยาบาลล่มสลาย อาจใช้คำรุนแรงไป
เมื่อโรงพยาบาลอัตคัดขาดแคลน เราไม่สามารถมีไอซียู มีเครื่องช่วยหายใจได้ เรานึกถึงเตียงโรงพยาบาลสนามขณะนี้ ตรงนั้นต้องเปลี่ยนให้เป็นไอซียูสนาม ตรงนี้ลืมเลยว่าห้องความดันลบ หรือห้องความดันกึ่งลบ ลืมไปได้เลย จะกลายเป็นโรงพยาบาลสนาม ซึ่งแบ่งโซนว่าตรงนี้คือไอซียู ตรงนี้ป่วยหนัก ตรงนี้อาการเกือบ ๆ ปานกลาง หรือสีเขียว เป็นต้น จริง ๆ แล้วสีเขียวกักตัวอยู่บ้าน ถ้าทำได้และระวังตัวไม่แพร่ให้คนอื่นที่บ้านด้วย ขณะเดียวกันเตียงสนามอย่างนี้ต้องการเครื่องช่วยหายใจขนาดเล็ก ๆ แบบนี้ ซึ่งเมื่อปีที่แล้วได้นำเสนอกระทรวงสาธารณสุขอยู่ 2-3 ครั้ง แต่คิดว่าไม่จำเป็น
นพ.ธีระวัฒน์ : ผมเป็นที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรีอยู่ เรื่องที่นำเรียนตรงนี้มีคนจะบอกว่าเอามาวิจารณ์อะไร ต้องนำเรียนว่าไม่ใช่ ข้อความหรือความเห็นต่าง ๆ พร้อมหลักฐานต่าง ๆ นี้ จริง ๆ แล้วได้พูดในกระทรวงสาธารณสุขอยู่ อะไรที่ผ่านไปแล้วก็ผ่านไป
อาจารย์เคยเสนอเรื่องนี้ไปแล้ว ?
นพ.ธีระวัฒน์ : ทุกรัฐบาล แต่รัฐบาลคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว
แต่ตอนนี้เห็นผลแล้วว่าจำเป็นต้องใช้ ?
นพ.ธีระวัฒน์ : ใช่ครับ เมื่อปีที่แล้วเสนอไปว่าไปซื้อเครื่องแบบนี้ แกะแล้วก็ก๊อบปี้ทำเอง แต่เผอิญโควิดดูสงบไปแล้วเลยไม่มีใครแกะ
พอโควิดกลับมาก็แก้ไม่ทัน ?
นพ.ธีระวัฒน์ : จริง ๆ ช่วง 6 เดือน ตอนนั้นคือเวลาทองที่ต้องเตรียมพร้อมสำหรับตรงนี้ อย่างฟาวิพิราเวียร์เมื่อปีที่แล้วทางองค์การเภสัชกรรมได้แถลงข่าวดีว่าสามารถผลิตได้เอง สังเคราะห์เองได้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่มีของที่เราผลิตเอง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่วันนี้ที่ได้ข่าวว่าจะเข้ามา 2 ล้านโดส เข้ามาอีก 1 ล้านโดส เดือนหน้า คนหนึ่งใช้ได้เฉลี่ย 70 เม็ด อย่างน้อยก็ใช้ได้ 42,857 คน ตรงนี้ดูเป็นจำนวนมาก แต่ตอนนี้คนไข้ที่เข้ามาอาจต้องเริ่มให้ตั้งแต่เริ่มมีความผิดปกติ แม้จะยังไม่ลงปอดก็ตาม ถ้ามีอาการทางร่างกายต้องเริ่มให้
ฟาวิพิราเวียร์บางคนบอกต้องให้ลงปอดก่อนค่อยกิน บางคนบอกกินเลย ควรเป็นยังไง ?
นพ.ธีระวัฒน์ : ถ้ากินเลยจะเสียของมาก เพราะไม่สามารถให้ฟาวิพิราเวียร์เป็นล้านคนได้ คนรับเชื้อบางคนเหมือนเป็นหวัดหายเองได้ แต่ขณะเดียวกันเรามีมาตรฐานในการประเมิน ยกตัวอย่างมีไข้ มีร่างกายอ่อนเพลีย ขณะที่ไข้ไม่ลง แม้ว่าจะได้รับยาลดไข้ต่าง ๆ ก็ตาม และเริ่มเพลียมาก ตรงนั้นเองในปอดไม่มีอะไรก็ตามอาจต้องเริ่มให้หรือคนที่ดูเหมือนปกติ แต่ปอดมีอะไร ตรงนั้นก็ต้องเริ่มให้เช่นเดียวกัน ไม่ต้องรออาการออก มีอาการโผล่มาแล้ว ถึงแม้ปอดดูดีก็ต้องให้ หรือปอดดูไม่ดีก็ต้องให้เช่นเดียวกัน
เรื่องวัคซีนมีคนฉีดแล้วตาย มีบางคนฉีดแล้วเป็นอัมพฤกษ์ บางคนอาการคล้ายอัมพฤกษ์ สุดท้ายมาจากวัคซีนซิโนแวค จริงหรือเท็จยังไง ?
นพ.ธีระวัฒน์ : จริง 1,000 เปอร์เซ็นต์ ไม่คิดเลย
นพ.ธีระวัฒน์ : ไม่ตื่นตระหนก จริง ๆ แล้วเหตุการณ์นี้เริ่มขึ้นวันที่ 3 เมษายน คุณหมอสมองท่านหนึ่งที่ศรีราชาเจอลักษณะแบบนี้ ลักษณะตรงนี้ หมอสมองเราเมื่อดูคนไข้มีอาการเป็นอัมพฤกษ์ ขั้นตอนเป็นอัมพฤกษ์ชัดเจน มีรายที่เราเริ่มปฏิบัติทันทีโดยให้คอมพิวเตอร์สมองเรียบร้อยแล้วให้ยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งการตัดสินใจให้ยาละลายลิ่มเลือดซึ่งมีผลข้างเคียงด้วย เราต้องแน่ใจด้วยว่าต้องให้
นพ.ธีระวัฒน์ : เราไม่เชื่อว่าวัคซีนห่วย อาจดูไม่สุภาพ เราไม่เชื่อว่าซิโนแวคมันไม่ดี แต่เป็นกระบวนการบรรจุหลอด บรรจุขวด เพราะเท่าที่สอบถามผู้ติดต่อในรัฐบาลจีน ก็แจ้งมาว่าวัคซีนซิโนแวคมีปัญหาเรื่องผลิตเป็น 100 ล้านโดส อาจหาหลอดไม่ทัน อาจมีอะไรปนเปื้อนอยู่ข้างในขวด ตรงนี้มีความเป็นไปได้สูง แต่ขณะเดียวกันในล็อตซิโนแวคหรือวัคซีน ไม่ได้หมายความว่าทุกขวดในล็อตเดียวกัน แต่อาจมีบางขวดเท่านั้นที่มีปัญหา ยกตัวอย่างเช่น ล็อต 001, 002, 008 เป็นต้น
เมื่อเราพบว่ามีปัญหาปุ๊บ สิ่งที่ต้องทำอย่างรีบเร่งไม่ใช่ว่าไม่ต้องตื่นตระหนก เนื่องจากว่าวิตกกังวลเกินเหตุ ขณะเดียวกัน ความวิตกกังวลก็ทำให้ออกมาเป็นอาการทางกาย ทำให้เกิดอาการอ่อนแรง ชา อย่างนั้นอาจเป็นการสรุปเร็วไป ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน จนผ่านมาถึง 20 มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง ยกตัวอย่างระยอง เจออีก 7 ราย วันที่ 20 ผู้เชี่ยวชาญทางสมองของเรา มีผมด้วย มีอาจารย์สมองอีกหลายท่าน เราใช้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง แต่ละรายจากระยอง ลักษณะต่าง ๆ เข้าได้กับการมีภาวะเส้นเลือดในสมองผิดปกติ
ตรงนี้เราสรุปได้ 3 อย่าง 1. เกี่ยวข้องกับวัคซีนแน่ ๆ แต่ไม่เกี่ยวกับวัคซีน แต่มีอะไรปนเปื้อนในหลอดที่บรรจุ 2. ตรงนี้ไปกระทบเส้นเลือดในสมองแน่ ทำให้เส้นเลือดเกิดภาวะหดเกร็งขึ้น หรือสปัสซั่ม ต่างจากแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นลิ่มเลือด แต่อันนี้เส้นเลือดสปัสซั่มไป
แอสตร้าเซนเนก้าเป็นลิ่มเลือด แต่น้อยมาก ซิโนแวคเป็นเส้นเลือดหดเกร็งลง แล้วยังไงต่อ ?
นพ.ธีระวัฒน์ : ข้อต่อไปคือกลไกที่ทำให้เกิดสปัสซั่ม ภาวะตรงนี้เราทราบกันดีมา 30 ปี แต่มันไม่ได้เกิดจากวัคซีน เกิดขึ้นในบางคนซึ่งน้อยมาก ทำให้มีภาวะเส้นเลือดหดตัว ทำให้เกิดตาบอดข้างหนึ่ง หรือภาวะเส้นเลือดหดตัวเนื่องจากกินยาบางอย่าง เช่น ยาลดความอ้วน ยาแก้ปวดศีรษะ หรือยาทางสมอง ซึ่งถ้าทานเดี่ยว ๆ ไม่เกิดอาการอะไรทั้งสิ้น แต่ถ้ามีมากกว่า 1 ปัจจัย มันก็จะกระตุ้นให้เกิดสปัสซั่มอย่างนี้เกิดขึ้น
แก้ยังไง ?
นพ.ธีระวัฒน์ : ทางป้องกันคือคุณหมอทางสมองที่สุรินทร์เริ่มค้นพบใน 17 ราย หรือกระทั่งเมื่อวานนี้ สำหรับผู้หญิงสาว ๆ ที่ยังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์และมีประจำเดือน ปรากฏว่ามันชอบ ฉีดไปแล้วภายใน 7 วัน ก่อนหน้าเริ่มมีประจำเดือนวันแรก หรือ 7 วัน มีประจำเดือนวันแรก พบว่าในกลุ่มที่เกิดขึ้นที่สุรินทร์ มีลักษณะแบบนี้ ผู้ป่วยในระยองก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน ถึงจะไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เสียหาย สำหรับหลาน ๆ ลูก ๆ ที่เป็นผู้หญิงอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ อาจเลือกเวลาฉีดยาให้หมดประจำเดือนไปก่อน ห่างไป 7 วัน ช่วงไข่ตกค่อยฉีด อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งอธิบายด้วยกลไกวิทยาศาสตร์ได้ระดับหนึ่ง ไม่เชื่อไม่ว่า แต่อย่าลบหลู่
ไม่กลัวสาธารณสุขออกมาสวนเหรอ ?
นพ.ธีระวัฒน์ : ไม่มีเหตุผลที่ต้องสวน เพราะขณะนี้ที่เรากำลังบอกว่าขณะที่เราไม่สามารถกำจัดสิ่งปนเปื้อนในหลอดต่าง ๆ ได้ ย้ำเดี๋ยวนี้เลยว่าวัคซีนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ยังไงก็ต้องฉีด แต่ถ้าฉีดแล้วเรารู้ว่าป้องกันอะไรได้ ทำไมเราไม่ทำ
นพ.ธีระวัฒน์ : ครับ ในส่วนผู้ชายไม่ค่อยเลือกอายุ เพราะผู้ชายที่ขอนแก่น อายุมากแล้ว 40, 50, 57 เป็นต้น ก็ยังเกิดขึ้นได้เหมือนกัน แต่กรณีอย่างนั้นเป็นกรณีซึ่งมีโรคประจำตัวอยู่บ้าง เช่น โรคหัวใจ และอัมพฤกษ์ แต่ตรงนั้นเป็นเส้นเลือดตีบอยู่แล้ว ถ้าเกิดเรื่องตรงนี้ คำแนะนำกระทรวงสาธารณสุข ถ้าเกิดมาแล้วก็ให้ปรึกษาหมอทางสมองเช่นผม หรือหมอสมองทั่ว ๆ ไป แต่เนื่องจากหมอทางสมองอย่างเรา ๆ ไม่ได้มีเยอะในประเทศไทย สิ่งที่เราสามารถแนะนำได้ เราคุยมา 3-4 วันแล้ว ว่ามียาขยายหลอดเลือด สำหรับคนที่เจ็บหัวใจ ใช้ช่วยผ่อนคลายอาการเจ็บหัวใจ อาจต้องเตรียมไว้ แม้ไม่ได้ออกฤทธิ์ทันที
ต้องเรียนย้ำ 2-3 ประเด็น หนึ่ง ตรงนี้หายเองได้ แต่รอไปก่อน สักประมาณ 5-15 นาที แต่คำว่ารอ ถ้าไม่หาย ตามสถิติแล้วที่ไม่เกี่ยวกับวัคซีน ที่เจออยู่ขณะนี้ 100 คน หายได้เกือบหมดเลย แต่คำถามถ้ารอไป 2-3 ชั่วโมง แล้วไม่หายเกิดอะไรขึ้น ต้องเลือกดูอวัยวะ เช่น ตาบอดไปข้างหนึ่ง ถ้าเป็นไปแล้วสัก 10-15 นาที เราไม่รู้ว่าจะหายเองหรือเปล่า เพราะถ้ารอ 1 วัน แล้วไม่หายก็ตาบอด อวัยวะสำคัญ เช่น ตา จอรับภาพในสมอง ทำให้เลอะเลือนมองไม่เห็น หรืออาการอ่อนแรงชัดเจน ตรงนั้นเองอาจไม่รอ อาจต้องให้ยาขยายหลอดเลือดเลย ณ ตอนนั้น
นพ.ธีระวัฒน์ : อันนั้นช่วยได้ แต่ถ้ากินแล้วช่วยไม่ได้ มีอาการต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้ทุกคนต้องกินนะครับ ถ้าเกิดขึ้นตา มีอาการอ่อนแรง อาจต้องสเต็ปต่อไปคือฉีด
หมอบอกว่าวัคซีนไม่ได้มีปัญหา แต่มีปัญหาเรื่องบรรจุภัณฑ์ปนเปื้อน แต่เป็นแค่บางล็อต ถ้าเกิดเรื่องขึ้นมา ภาวะเส้นเลือดหดเกร็ง อาจทำให้มีอาการอัมพฤกษ์ ตาพร่ามัว ไม่เห็นไปข้างหนึ่ง สิ่งต้องแก้ไขคือให้ยาขยายหลอดเลือด สอง การป้องกัน คนเป็นประจำเดือน ควรฉีดก่อนหน้าเป็นประจำเดือนและหลัง 7 วัน ส่วนมุมผู้ชายนี่ยังไง ?
นพ.ธีระวัฒน์ : ผู้ชายที่มีโรคประจำตัวอาจต้องระวัง แต่ยังไงก็ตาม เนื่องจากย้ำเป็นครั้งที่ 100 วัคซีนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เราต้องฉีดอย่างยิ่ง ปรากฏการณ์ที่พูดมาตรงนี้ เราได้รับทราบและรับรู้ เราป้องกันได้ระดับหนึ่งและสามารถป้องกันรักษาเยียวยาได้ ที่เราพูดในโหนกระแส ไม่ใช่ข้อมูลให้ทุกคนตกใจกลัว แต่เป็นข้อมูลที่บอกว่าเรารู้แล้วเกิดอะไรขึ้น และเราสามารถรักษาและป้องกันได้
แต่คนจะยิ่งไม่กล้าฉีดหรือเปล่า ?
นพ.ธีระวัฒน์ : ที่เราพูดวันนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจ เพราะวัคซีนทุกชนิดในโลกนี้ โดยเฉพาะวัคซีนโควิด ไม่ว่าจะไฟเซอร์ แอสตร้าเซนเนก้า โมเดอร์น่า หรือตรงนี้ก็ตาม มีผลข้างเคียงทั้งสิ้น มีทุกยี่ห้อ อย่างแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเรื่องลิ่มเลือด ไฟเซอร์ก็เช่นเดียวกัน ลิ่มเลือดเหมือนกัน โมเดอร์น่าก็เหมือนกัน แต่ความจำเป็น ณ ขณะนี้เราต้องหยุดการระบาดนี้ให้ได้ด้วยการรักษาวินัย รักษาระยะห่างและเรื่องวัคซีน ถ้าเราไม่สามารถยับยั้งตรงนี้ได้ โรงพยาบาลไม่สามารถจัดการได้ในเรื่องเตียงและอุปกรณ์ต่าง ๆ
มีสายจาก "คุณเฟรม" ลูกชายคุณแม่ที่ไปฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิต ไม่แน่ใจผลเกิดจากวัคซีนหรือเปล่า ตอนนี้มั่นใจเลยใช่ไหมว่าทั้งหมดเกิดจากวัคซีน ?
เฟรม : เบื้องต้นไม่สามารถสรุปได้ แต่คิดว่าน่าจะมีโอกาสเกิด หรือมีส่วนช่วยทำให้อาการแม่กำเริบขึ้นมาได้ แม่อายุ 57 ปี เป็นพยาบาลวิชาชีพ เบื้องต้นแกตรวจทุกปี มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หมอให้ควบคุมอาหาร ระดับน้ำตาล ส่วนโรคอื่นไม่มีอะไร แกยังปฏิบัติงานเป็นพยาบาลอยู่
ได้รับเข็มแรกหรือเข็มที่สอง ?
เฟรม : เข็มแรกวันที่ 7 เมษายน วันแรกไม่มีอาการอะไร จนมา 1 อาทิตย์ หลังฉีดวัคซีน คุณแม่เสียชีวิตวันที่ 14 เมษายน เบื้องต้นคุณแม่ก่อนหน้านั้นวันที่ 13 เป็นวันสงกรานต์ เรามีการไปรดน้ำดำหัวกันปกติ แม่ไม่ได้มีอาการมาก่อนหน้านั้นเลย เข้านอนปกติ จนตี 2 ของวันที่ 14 ได้ยินเสียงคุณแม่อาเจียน ผมเลยลุกไปดู ถามว่าเป็นอะไร แกปวดเมื่อยตามเนื้อตัว รู้สึกไม่ค่อยสบายตัว ผมเลยพามานอนพัก เช็ดตัวให้ก็ดีขึ้น และพาไปเข้าห้องน้ำ
จนสักตี 4 ผมพาแกไปเข้าห้องน้ำอีกรอบ แกเหมือนลุกจากห้องน้ำไม่ไหว ผมเลยประสานทางคุณพ่อกับพี่ชายเพื่อส่งคุณแม่ไปโรงพยาบาล แต่ติดต่อโรงพยาบาลไม่ได้ จนคุณแม่ตาค้างไป ด้วยความผมเคยเป็นพยาบาลมาก่อน ก็ช่วยปั๊มหัวใจขึ้นมารอบแรก และนำตัวส่งโรงพยาบาลเอง พอถึงโรงพยาบาล หมอนึกถึงว่าน่าจะเกิดจากภาวะหัวใจขาดเลือด ซึ่ง ณ ตอนนั้นไม่มีการให้การรักษาใด ๆ เลย จนครึ่งชั่วโมงถัดมาแกก็ไปอีกรอบ แล้วครั้งที่สองไม่ได้กลับมา
อาการอื่น ๆ เช่น แน่นหน้าอก อัมพฤกษ์ ไม่มีเกิดขึ้นเลยถูกไหม ?
เฟรม : เบื้่องต้นก่อนหัวใจหยุดเต้นไปรอบแรก แกบอกว่าปวดตามเนื้อตัว ขาชาทั้งสองข้าง จนลุกมาจากห้องน้ำไม่ได้ รอบสองแกบอกว่าขาชาจนไม่รู้สึกอะไรเลย จนแกน็อกไป
เฟรม : เบื้องต้นตั้งแต่คุณแม่เสีย จนผ่านมาสัก 1 อาทิตย์ ไม่ได้รับการติดต่ออะไรมาเลย จนโรงพยาบาลเห็นว่ามีข่าวลือว่าแม่ผมเสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีน พวกผมใจจริงต้องการรอผลชันสูตรอย่างเป็นทางการก่อน แต่อยู่ดี ๆ โรงพยาบาลเขามาโพสต์ในเฟซบุ๊กว่าแม่ผมเสียชีวิตไม่ได้เกิดจากการฉีดวัคซีน แต่เกิดจากมีโรคประจำตัว และทานยาไม่สม่ำเสมอ ทำให้เกิดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งมันไม่เป็นความจริง ข้อมูลที่ลงคุณไม่ได้สอบถามทางครอบครัวหรือได้รับอนุญาตจากครอบครัวก่อน ซึ่งมีการแชร์ไปค่อนข้างเยอะ จนโรงพยาบาลได้ลบโพสต์ออกไปและออกมาขอโทษ และได้ติดต่อกลับมาจะให้ความช่วยเหลือ ก่อนหน้านี้ไม่ได้ติดต่ออะไรมาเลย
คุณเฟรมติดอยู่ในใจว่าเกี่ยวกับวัคซีนหรือเปล่า ?
เฟรม : ใช่ครับ บอกตรง ๆ ไม่มีใครทราบเลยว่าวัคซีนตัวนี้จะทำให้เกิดลิ่มเลือดหรืออะไรต่าง ๆ ได้ แต่อย่างน้อยถ้ามีโอกาสเกิดแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ 1 ในแสน หรือ 1 ในล้าน มันก็เกิดขึ้นได้ อยากให้ภาครัฐเล็งเห็นตรงนี้หน่อย อยากให้แม่ผมเป็นกรณีตัวอย่างสร้างมาตรฐานที่ดีกว่านี้ จะได้ไม่มีเคสต่อ ๆ ไป และเกิดความสูญเสียเหมือนที่ผมได้เจอ
นพ.ธีระวัฒน์ : อาจเป็นสาเหตุร่วม ปรากฏการณ์ที่เราเจอ หลอดเลือดหดเกร็ง ตรงนี้จะเกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว อาการภายในวันนั้นเอง หรือไม่กี่นาทีหลังจากนั้น อย่างไรก็ตามขอแสดงความเสียใจด้วย
คนถามว่าแล้วตกลงถ้ามีการปนเปื้อนเราจะไปมั่นใจได้ยังไง ฉีดหรือไม่ฉีด ?
นพ.ธีระวัฒน์ : ฉีดแน่และต้องส่งสัญญาณไปที่ผู้ผลิตว่าเกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น เปลี่ยนล็อตใหม่ ล็อตที่ใช้อยู่ปัจจุบันเปลี่ยนคืนไป ส่งล็อตใหม่มา ไม่งั้นเราก็ต้องป้องกันและเตรียมพร้อมรักษากันอยู่ค่อนข้างเยอะพอสมควร
ภาครัฐบอกว่าเป็นอัมพฤกษ์ชั่วคราว คิดขึ้นเอง ? ทั้งนี้ สามารถติดตามชมรายการ โหนกระแส โดยมี "หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย" ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33