โควิดคร่า 3 ชีวิต! น้องชายหมอแอ้ม วอนแก้กฎนำเข้าวัคซีน
กรณี นาวาอากาศเอกหญิง แพทย์หญิงสรัญยา ฬาพานิช บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ติดโควิด-19 เสียชีวิต ทั้งที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้ว ขณะที่คนในครอบครัวหมอแอ้มติดเชื้อโควิดทั้งหมด 7 คน พบว่าเสียชีวิตทั้งหมด 3 คน ได้แก่ พ่อ แม่ และหมอแอ้ม ขณะที่น้องชายตั้งคำถาม การนำเข้าวัคซีนที่มีมาตรฐาน หลังสูญเสียทั้งพ่อ แม่ และพี่สาว จากโรคนี้
รายการโหนกระแสวันที่ 13 ส.ค. 64 "หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย" ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 สัมภาษณ์ "นพ.สิทธิพงศ์ ฬาพานิช" (หมอเตี๋ยว) น้องชายหมอแอ้ม ที่เสียชีวิต มาพร้อม "ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา" นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค (สวทช.)
เหตุการณ์เกิดอะไรขึ้น ในครอบครัวติดโควิดถึง 7 คนเลยเหรอ?
นพ.สิทธิพงศ์ : ใช่ครับ ผมแยกบ้านมาอยู่ บ้านนั้นมีคุณพ่อ คุณแม่ พี่สาว พี่คนรอง พี่เขย และลูกสองคน แม่บ้าน แถวๆ วันที่ 20 เดือนที่แล้ว คุณแม่เริ่มไอเยอะ เลยพาไปตรวจทั้งบ้าน แล้วก็พบว่าเป็นบวกกันหมดเลย คุณแม่ 75 ปี คุณพ่อ 78 พอเอกซเรย์ตอนแรก พอมีอาการไอหรือมีไข้ ปวดคุณแม่ไปทั้งสองข้างเลย ส่วนพี่สาวคนโตปอดไปข้างนึง ผ่านไป 4-5 วันคุณแม่ก็เสียเลย แม่เสียวันที่ 25 พอเสียปุ๊บเราก็ไม่บอกพี่แอ้ม ไม่ได้บอกพ่อ เพราะไม่อยากให้ทรุด ตอนนั้นทุกคนอยู่รพ.กันหมดแล้ว พอแม่เสีย พี่สาวคนรองที่ยังไม่ติดก็กักตัวอยู่บ้าน ผมก็ไปรับศพคุณแม่ ซึ่งเราไม่สามารถเห็นหน้าคุณแม่ได้ เขาซีลอย่างดี เราไม่สามารถลาคุณแม่ได้ ไม่สามารถบอกพ่อและพี่สาวได้ สักพักพี่สาวรู้ เขาคุยในไลน์บอกว่าฝันถึงแม่ มีอะไรปิดบังหรือเปล่า หลังจากนั้นพี่สาวก็รู้ ไม่นานประมาณวันที่ 30 คุณพ่อก็เสีย
ตอนคุณพ่อเสีย ไม่ได้ทราบว่าคุณแม่เสียด้วย?
นพ.สิทธิพงศ์ : ใช่ครับ ห่างจากแม่ประมาณ 5 วัน พอคุณพ่อเสีย จัดการงานศพ เราก็ไม่กล้าบอกพี่แอ้ม จนพี่เขยหาย แม่บ้านหาย ลูกเขาหาย พี่แอ้มอาการดีขึ้นเยอะเลย ออกจากไอซียู เขาบอกฉันต้องหาย ฉันต้องไม่ตาย หลังจากนั้นทราบว่าตรวจแล้วเป็นเนกาทีฟ ออกจากรพ.จะไปทำบุญให้คุณแม่ แต่อยู่ดีๆ ประมาณวันที่ 11 พี่สาวคนรองโทรมาบอกว่าพี่แอ้มไม่โอเคแล้วนะ แย่แล้ว เราก็สงสัยทำไมถึงทรุด ทั้งที่กำลังดีขึ้น แพทย์ที่ภูมิพลบอกว่าไม่ไหว สุดท้ายก็เสีย
หมอแอ้มฉีดวัคซีนแล้ว?
นพ.สิทธิพงศ์ : ฉีดแล้วครับ คุณพ่อคุณแม่ก็ฉีดแล้ว ทั้งคู่ฉีดแอสตร้าฯ พ่อกับแม่ฉีดเข็มแรกรอเข็มสองอยู่ ส่วนพี่แอ้มฉีดสองเข็ม
ฉีดไปนานหรือยังกว่าจะมาติดโควิด?
นพ.สิทธิพงศ์ : ผมว่าน่าจะสักประมาณ 2-3 เดือน ผมไม่แน่ใจเรื่องเวลาเท่าไหร่นพ.สิทธิพงศ์ : ที่ผมเขียนไม่ได้ว่าใครเลย ไม่ได้ตัดพ้ออะไร ผมมองว่าตอนนี้การนำวัคซีนมาในเมืองไทย ใหญ่ๆ คือสถาบันวัคซีน สองกรมควบคุมโรค สามองค์การเภสัช สี่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ห้าล่าสุดคือสภากาชาด ที่ผมพูดผมกำลังบอกว่าแค่อยากลองว่าเราจะมีโอกาสมั้ย องค์กรที่หก เจ็ด แปด นำเข้าวัคซีนมาในเมืองไทย อย่างกทม. มีเงินเยอะ ทำเรื่องไปก็ได้ หรือแต่ละจังหวัดนำเข้าแต่ละอันได้มั้ย หรือจะให้เอกชนนำเข้าได้มั้ย แต่ผมก็ทราบว่าเวลาเขาดีลวัคซีนเมืองไทย ที่ดีลกับเมืองไทย ต้องดีลกับรัฐเท่านั้น แต่มันก็ไม่ได้ไปล็อกว่าเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราแก้กฎว่าเอกชนได้ หรือองค์กรเช่นกทม. ไปดีลโดยตรง ลองดูมั้ย ถ้าเขาโอเคก็ไม่ผิดที่เราจะลองไม่ใช่เหรอ ได้ไม่ได้ก็อีกเรื่องนึง
รู้สึกว่าการนำวัคซีนเข้ามาไม่ทันท่วงที?
นพ.สิทธิพงศ์ : ผมไม่อยากให้ใครเป็นอย่างครอบครัวผม ผมก็ได้แต่เสนอว่าเป็นไปได้มั้ย อย่างที่มีคนเขียนว่าคุณหมอไม่รู้เหรอบริษัทเหล่านี้เขาดีลแต่รัฐบาลอย่างเดียว แต่ถ้าถึงจุดนึง การลองไม่ได้ผิด ผมแค่พยายามหาทางออก ไม่ได้มาว่าใคร ไม่ได้โทษวัคซีนไหนไม่ดี แค่เสนอทางออกให้คนมีอำนาจรับฟัง ทำไมต้องมานั่งปักธงว่าอันนี้ไม่ได้ๆ ยังไม่ได้ลองเลย ไม่ได้พูดให้กระทบกระเทือนใคร ผมเห็นรพ.เอกชนนึงตอนแรกจะนำเข้า สุดท้ายก็นำเข้าไม่ได้ เขาบอกของเขาไม่มีหน่วยรัฐนำเข้า ส่วนอีกฝ่ายบอกไม่มีการติดต่อ มันพูดไม่ตรงกัน ถ้าแก้กฎตรงนี้ได้ แล้วพิสูจน์ดูว่านำเข้าได้จริงหรือเปล่า ถ้านำเข้าได้มันก็มีแต่ประโยชน์ ถ้าไม่ได้ก็ไม่ได้เสียหายอะไร สิ่งสำคัญคือเราต้องได้วัคซีนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไม่ใช่แค่วัคซีนอย่างเดียว เมื่อวานทางฝั่งแฟนผม คนที่โรงงานเขาก็ติด สิ่งที่ทำคือเราโทรหารพ.เยอะแยะมากขอเตียง แต่มันไม่มีให้ แล้วไปได้ที่นึง แล้วไม่มีคนส่ง เพราะไม่มีใครกล้าส่ง มันมีปัญหาตรงนี้แล้วแก้ไม่ได้ ต่อให้หารพ.นึง คุณหาวัคซีนไม่ได้ เพราะวัคซีนไม่พอ คุณหารพ.ได้ก็หาคนไปส่งไม่ได้อีก เพราะไม่มีใครกล้าไปส่ง ผมว่าต้องแก้อะไรหลายๆ อย่าง ผมไม่ได้ว่าอะไรใครเลยนะ ขอยืนยันคำเดิม ผมแค่หาทางระดมความคิด อยากให้คนมีอำนาจรับฟังนิดนึง ลองดูก่อนมั้ย อย่าไปปักธงว่ามันไม่ได้เลย มันมีทางออกอะไรให้เยอะแยะตอนนี้ไม่ได้ แต่อีกหน่อยมันอาจจะได้ก็ได้
ยืนยันเราไม่ได้ด้อยค่าซิโนแวค เพราะผมก็ฉีดซิโนแวคเหมือนกัน ขอถามอาจารย์ ตอนนี้ซิโนแวคสองเข็ม มันเอาไม่อยู่แล้วใช่มั้ย?
ดร.อนันต์ : เคสคุณหมอน่าสนใจมาก เพราะว่าทุกคนได้รับวัคซีนหมด ก่อนหน้านี้ที่เราทราบกันมาช่วงระบาดใหม่ๆ มีการพูดกันว่าวัคซีนกันติดไม่ได้ แต่กันตายได้ เพราะเรามีความมั่นใจว่าภูมิคุ้มกันในร่างกายเราจะมีระดับที่สามารถป้องกันการติดเชื้อรุนแรง ทำให้เกิดเชื้อลงปอด และทำให้ความรุนแรงของโรคเกิดขึ้น แต่ข้อมูลที่ได้ตอนนี้สายพันธุ์เดลต้า มีบางอย่างที่แตกต่างไปจากการระบาดครั้งก่อนๆ ที่เราเจอ ข้อมูลค่อนข้างชัดว่าเดลต้าอยู่ในร่างกายเราได้ไว เพิ่มปริมาณตัวเองในร่างกายได้ค่อนข้างไวมากๆ และ มีปริมาณมากกว่าสภาวะปกติพันเท่า กรณีวัคซีน เราเข้าใจว่าวัคซีนที่เราฉีดเข้าไปจะไม่อยู่กับร่างกายเราตลอด อย่างที่คุณหนุ่มบอกว่าตอนนี้ซิโนแวคสองเข็มอยู่ในร่างกายคุณหนุ่มเหลือแค่ 20 กว่า นั่นหมายความว่าภูมิคุ้มกันการฉีดวัคซีนมันจะอยู่และพอไม่ได้ใช้ประโยชน์ ถ้าเกิดติดเชื้อซ้ำ ภูมิคุ้มกันที่เรามี ความทรงจำจากการฉีดวัคซีนจะเริ่มทำงาน เซลล์ต่างๆ จะเริ่มสร้างแอนติบอดี้ขึ้นมา แต่ใช้เวลาประมาณ 6-8 วัน ถ้าดูเดลต้า เดลต้าใช้เวลาเข้าร่างกายเรา 3-4 วัน จะมีช่วงที่เซลล์สร้างแอนติบอดี้ไม่ทัน ทำให้เดลต้าเริ่มสร้างปัญหา เช่นติดไปในปอด เข้าไปในคนต่างๆ ที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง
ความสมดุลมันไม่เสมอกัน ถ้าเมื่อก่อนที่ฉีดซิโนแวคไป 2 เข็ม ถามว่าโอเคมั้ยก็โอเคแต่นั่นมันคือเมื่อก่อน ถามว่าเพราะอะไรเพราะเชื่อก่อนหน้านี้พอรับไป กว่าจะเริ่มมีปฏิกิริยาลงปอด ใช้เวลา 5-7 วัน เซลล์เราจะกระตุ้นแอนติบอดี้ทัน เสมอกัน แต่พอเป็นเดลต้ามัน 3 วันเท่านั้น ที่เราฉีดไปภูมิยังไม่กระตุ้นขึ้นมา ฉะนั้นแค่ 3 วัน มันจัดการเราก่อนที่มีข่าวว่าไฟเซอร์เองสู้โมเดอร์น่าไม่ได้?
ดร.อนันต์ : อันนี้เป็นข้อมูลที่เริ่มออกมา แต่ยังไม่ได้มีการตีพิมพ์ออกมาเป็นวารสารวิชาการ อย่างเป็นทางการ เป็นผลวิจัยอย่างน้อย 3 ที่ ที่แรกอเมริกา ทำในประชากร 2 หมื่นกว่าคนที่มินนิโซตา เขาเก็บข้อมูลว่าอเมริกามีการใช้โมเดอร์น่า ไฟเซอร์ แล้วจับช่วงเวลาต่างๆ ที่เขาเริ่มใช้สองวัคซีนนี้มา เขาเริ่มเห็นว่าวัคซีนสองชนิดนี้สูสีกันตอนเริ่มต้น ตอนอัลฟ้า ระบาดในประเทศ ค่อนข้างสูสี แต่พอเดลต้าเริ่มสร้างปัญหาเขาเห็นความแตกต่างชัดเจน ในประชากรที่ได้ไฟเซอร์จะเจอคนป่วย มีอาการเข้ารพ.มากกว่าโมเดอร์น่า อีกข้อมูลเพิ่งออกคือที่กาต้าร์ เขาเก็บข้อมูลคนใช้ไฟเซอร์กับโมเดอร์น่าเหมือนกัน กรณีสายพันธุ์เดลต้าเขาพบข้อมูลใกล้เคียงกัน คือประสิทธิภาพไฟเซอร์เหลือแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ต่อเดลต้า ขณะที่โมเดอน่ายังได้ 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ ต่อการติดเชื้อ มีอาการ แต่การติดเชื้อรุนแรงยังใกล้เคียงกันอยู่ คือห่าง 10 เปอร์เซ็นต์ ข้อมูลตรงนี้ค่อนข้างบอกว่าโมเดอร์น่าเหมือนมีภาษีที่ดีกว่า
ทั้งที่เป็นวัคซีนชนิดเดียวกัน?
ดร.อนันต์ : ใช่ครับ ข้อแตกต่างของวัคซีนสองชนิดนี้คือกรณีโมเดอร์น่าปริมาณเนื้อวัคซีนสูงกว่า ประมาณ 100 ไมโครกรัม ปริมาณเนื้อวัคซีนคือ mRNA ที่ฉีดสูงกว่า ขณะที่ไฟเซอร์ที่เขาทำมา มีแค่ 60 ไมโครกรัม กรณีซิโนแวค กับซิโนฟาร์มก็เหมือนกัน ซิโนแวคมีเนื้อของวัคซีนน้อยกว่าซิโนฟาร์ม กรณีไฟเซอร์กับโมเดอร์น่าก็เหมือนกัน เขาใช้สูตรของเขา สูตรนี้ได้จากการทดสอบในเฟสหนึ่ง แล้วดูว่ามีผลข้างเคียงที่น้อยถ้าเกิดมากไปกว่านี้ก็จะเริ่มมีคนมีผลข้างเคียงเยอะเขาก็เลยตัดว่า 60 ดีที่สุดเอามาใช้ต่อ โมเดอร์น่าไปได้ถึงร้อย คนยังโอเค ไม่มีอาการผลข้างเคียง เขาเลยตัดที่ร้อย
กรณีคุณหมอเรียกร้องให้มีหน่วยงานนำวัคซีนมาให้มากกว่านี้ ในการนำเข้า อันนี้เหมือนถูกตีกรอบเอาไว้ อาจารย์มองยังไง?
ดร.อนันต์ : เห็นด้วยครับ แต่เนื่องจากว่ากฎหมายบ้านเรา เขากำหนดว่าวัคซีนที่จะใช้ได้ ต้องเป็นวัคซีนที่ผ่านการอนุมัติจากอย. ซึ่งปัจจุบันอย.อนุมัติอยู้ 4-5 ชนิด ซึ่งรัฐบาลนำเข้ามาเป็นซิโนแวค แอสตร้าฯ และไฟเซอร์ ซึ่งเราสั่งเข้ามาเหมือนรัฐบาลไม่ได้ เพราะรัฐบาลเป็นผู้จัดซื้อ อนาคตข้างหน้าถ้ามีตัวเลือกเข้ามา อย่างสปุตนิก วีของรัสเซีย หรือคานซิโนของจีน หรือโนวาแวกซ์ ของอเมริกา เข้ามาขออย.บ้านเราและอนุมัติได้ ก็จะมีโอกาส แต่ประเด็นคือทุกตัวเป็นวัคซีนที่อนุมัติฉุกเฉิน บริษัทวัคซีนไม่รับประกันว่าถ้าเกิดเคสรุนแรงแล้วเขาจะรับผิดชอบในการชดใช้ค่าจ่ายจากวัคซีนเหล่านั้น ฉะนั้นเขาถึงให้รัฐเป็นคนรองรับ รับประกันตรงสิ่งนั้น ถ้าเอกชนเข้ามา เราก็ต้องมองว่าวัคซีนก็มีโอกาสผิดพลาดได้ เพราะปกติวัคซีนใช้เวลา 10 ปี ตอนนี้วัคซีนใช้เวลาแค่ปีเดียวก็นำออกมาใช้งานแล้ว มันก็เป็นประเด็นที่หลายคนอาจจะมองว่าอาจต้องพิจารณาไปในอนาคตข้างหน้า แต่ตอนนี้มันทำได้ค่อนข้างยาก ที่บริษัทวัคซีนใหญ่ๆ เหล่านั้นจะขายให้กรุงเทพฯ หรือหน่วยงานที่จะนำเข้ามาเอง แต่ถามว่าเป็นไปได้มั้ย เป็นไปได้ในอนาคต เพราะวัคซีนออกมาอยู่เรื่อยๆตอนนี้มีหลายตัวที่พร้อมให้เราเอามาใช้แก้ปัญหาผมกำลังสับสนเรื่องภาครัฐเป็นคนนำเข้า แต่การนำเข้าไม่ได้เพียงพอกับประชาชน มันยิ่งช้าและยิ่งหายไป ข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนั้น?
ดร.อนันต์ : ใช่ครับ ตอนนี้เดลต้าไปทั่วโลก พอทั่วโลก ทุกประเทศที่มีวัคซีนเขาก็เริ่มเอามาใช้เป็นเข็มที่สามในประชากรของเขาเอง ถ้ามองบริบททั่วโลกเขาก็อยากได้วัคซีนมาใช้ แต่อเมริกาก็เริ่มมีเข็มสาม อังกฤษเอง หรืออิสราเอลเองเริ่มเอาไฟเซอร์มาใช้เข็มที่สามของประชากร ความต้องการวัคซีนของทั้งโลกก็จะสูงขึ้น ขณะที่วัคซีนมีเท่าเดิม ฉะนั้นปริมาณวัคซีนที่จะพอเอาเข้าประเทศก็จะมีจำนวนจำกัด ดีมานต์ซัพพลาย ความต้องการสูงแต่ของมีน้อย ถึงมีเงินก็เอาเข้ามาไม่ได้เพราะเราไปช้ากว่าเขา ต้องยอมรับตรงนี้ หมายความว่าเรามองสถานการณ์ช้ากว่าเขา เพราะเรารู้ว่าเดลต้าจะมา แต่วัคซีนที่เรามีตอนนี้อาจไม่ค่อยดีหรือมีปัญหา เราสั่งช้าไป เรารู้ว่าโมเดอร์น่าเริ่มดีกว่าไฟเซอร์ แต่ถามว่าจะเอาโมเดอร์น่าเข้ามามากกว่า 5 ล้านโดสได้มั้ย ผมว่ามันยาก เพราะตอนนี้ทั่วโลกก็อ่านเปเปอร์ งานวิจัยเหมือนกันหมด ทุกคนรู้ว่าโมเดอร์น่าดี ก็จะมองไปที่โมเดอร์น่า ขอสั่งโมเดอร์น่าเพิ่มเติม ก็จะเป็นการวนลูปว่าถ้าเราตามงานคนอื่น ทุกคนก็อ่านเหมือนกัน แต่เราไปช้า การสั่งจองก็ช้า
ทำไมเราต้องช้ากว่าคนอื่น ทั้งที่เราก็อ่านพร้อมกัน?
ดร.อนันต์ : อันนี้อาจเป็นระบบการสั่งจองด้วยมั่งครับ ผมไม่ได้คุ้นเคยว่าเรามีขั้นตอนอย่างไรบ้างในการที่จะสั่งจองวัคซีนเข้ามา แต่ผมเข้าใจว่าประเทศไทยมีระบบค่อนข้างเยอะ ค่อนข้างใช้เวลาในการที่จะสั่ง
ก็ตรงกับที่คุณหมอคิดไว้เหมือนกันเรื่องระบบที่ทำให้ล่าช้าเกินไป อาจารย์ก็ยอมรับ?
ดร.อนันต์ : เห็นด้วย ในฐานะนักวิจัยเอง ถ้าไปลูปนี้ เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด ทางทีมวิจัยเองคุยกันที่จะเอาวัคซีนเราเอง ไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ ทีมจุฬา ทีมใบยาฯ สวทช. เองก็ทำงานไว้แต่ต้น เราก็หวังว่านวัตกรรมที่เราทำขึ้นมาโดยภูมิปัญญาคนไทย จะได้วัคซีนที่น่าจะตอบโจทย์คนไทยได้
ล่าสุดอาจารย์กำลังทำวัคซีนพ่นจมูก?
ดร.อนันต์ : เราทำมาตั้งแต่เริ่มต้นการระบาด เราทำวิจัย จริงๆ ทีมประเทศไทยเราไม่แข่งกันนะ เราแบ่งกันทำ เราตัดต่อไวรัสเก่ง เราก็คุยในทีมว่าเราจะทำไวรัสสองตัวขึ้นมา ไวรัสสองตัวนี้ติดเข้าทางเดินหายใจได้ เหมือนโควิด-19 เลย ทำยังไงก็ได้ให้เป็นตัวนำส่งเข้าทางจมูกให้ร่างกายรู้จักโควิด-19 ตั้งแต่การได้รับเชื้อที่ฉีดเข้าทางจมูก
เขาเรียกเชื้ออะไร?
ดร.อนันต์ : ตัวไข้หวัดใหญ่นี่แหละครับ เราไปดัดแปลงไข้หวัดใหญ่ให้มันอ่อนเชื้อลง ติดเข้าจมูกได้แล้วหยุดเลย ไปต่อไม่ได้ แต่ร่างกายเราเห็นไวรัสแล้ว วิธีการแบบนี้ ร่างกายเราจะได้รับแอนติเจนท์ หรือภูมิคุ้มกันสองแบบ ทั้งไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 ในเวลาเดียวกัน อีกตัวคืออะดิโน ไข้หวัดธรรมดา ที่เราเป็นไข้หวัดสองสามวันหาย เราเอาตัวนั้นมาดัดแปลง ใส่โควิดเข้าไป มั่นใจว่าวิธีการแบบนี้จะทำให้ภูมิคุ้มกันในจมูกเราดี เซลล์ตัวนี้เข้าไปจมูก มีแอนติบอดี้ พร้อมจับไวรัสตั้งแต่เรารับเข้าสู่ร่างกาย ป้องกันติด ไม่จำเป็นต้องให้ไวรัสติดเพื่อให้เกิดการตาย
อันนี้ต้องทำยังไง?
ดร.อนันต์ : อันนี้เป็นการพัฒนาของเข็ม เป็นหลอดฉีดยาทั่วๆ ไปที่เราเห็น คนฉีดวัคซีนปกติจะใช้เข็มแหลมๆ จิ้มเข้าไปแล้วดูดวัคซีนฉีดเข้าไปในร่างกาย อันนี้จะเป็นตัวใช้พ่นจมูก สมมติดูดเอาวัคซีนเข้ามา ฉีดฝาเข้าไป เวลาใช้ปิดจมูกด้านนึงเอาเข้าไปในรูจมูก ละอองฝอยจะเข้าไปทำให้มีปริมาณไวรัสหรือตัวที่เราเอ็นจิเนียร์ไว้ติดโดยธรรมชาติ เป็นไวรัสที่ไม่แบ่งตัวต่อ แต่ทำให้ร่างกายเห็นไวรัส และเหมือนเป็นการติดเชื้อแบบธรรมชาติ
จะออกมาใช้เมื่อไหร่?
ดร.อนันต์ : เราพยายามทำให้เร็วที่สุด มุมมองของเรา เราทำกันถึงระดับของขั้นการทดลองเรียบร้อยแล้ว หนูทดลองถึงขั้นฉีดจมูก ผลดีมาก ใส่โควิดลงไป เขาไม่ป่วยเลย น้ำหนักเขาดี กินอาหารได้มากขึ้น ขณะที่หนูที่ฉีดเข้ากล้าม เขาไม่ป่วยแต่น้ำหนักลด และซึม ขณะที่ป้องกันการติดที่จมูกมันค่อนข้างชัด เมื่อไวรัสเข้าไม่ได้ เขาก็ไม่ป่วย หนูอาการดี ข้อมูลพวกนี้พ้องกับความปลอดภัย เราก็สามารถที่จะนำข้อมูลนี้ไปบอกที่อย. ถ้าอย.เห็นด้วยเรามีข้อมูลพร้อมเราก็จะไปที่คน
รัฐให้เงินทุนมั้ย?
ดร.อนันต์ : ตอบแทนภาครัฐไม่ได้ แต่เราหวังจากภาครัฐ แต่ถ้าช้าคงพิจารณา ถ้าภาคเอกชนมีความสนใจ ก็อาจเป็นไปได้ ที่อาจเพิ่มการระดมทุนเข้ามา ทำให้งานนี้เกิดขึ้นไว แต่ก็ต้องดูว่าภาครัฐมีความฉับไวขนาดไหน ผมเชื่อว่าความคาดหวังของคนไทยมี และอยากได้ตัวนี้มาใช้จริงๆ เราก็มีความคาดหวัง
อีกอันที่พูดถึงกันเยอะมาก คือ 0.1 ml ฉีดไปใต้ผิวหนัง เขาบอกตื้นกว่าฉีดโบท็อกซ์อีก แล้วจะเข้าไปครอบคลุม จริงมั้ย?
ดร.อนันต์ : อันนี้จริง การฉีดวัคซีนมีหลายแบบ ที่เรานิยมฉีดคือฉีดเข้ากล้าม เพราะฉีดง่าย กล้ามเนื้อเรามีเยอะ โอกาสเข้าสู่ร่างกายก็ง่าย การฉีดใต้ผิวหนังเนื่องจากผิวหนังเราบาง ต้องใช้เข็มที่สั้นมาก แต่เนื่องจากการฉีดใต้ผิวหนังใช้ปริมาณวัคซีนที่น้อย ประมาณ 10 เท่า วิธีการก็เอามาใช้ทดแทนวัคซีนที่ขาดแคลน กรณีแอสตร้าฯ 1 โดส สามารถใช้ได้ถึง 10 คน ถ้าเอามาใช้ในการกระตุ้น ฉีดใต้ผิวหนัง ไซเฟอร์ก็เหมือนกัน แต่วิธีการแบบนี้ยังไม่มีการทดสอบในบริษัทวัคซีนเอง แอสตร้าฯ เองหรือไฟเซอร์เองก็ไม่เคยทดสอบว่าใต้ผิวหนังทำแล้วได้ผลดีกว่ากล้ามมากน้อยแค่ไหน
แต่เคยมีการฉีดแบบนี้ ในการฉีดพิษสุนัขบ้า อ.ธีระวัฒน์ แนะนำมา และมีอาจารย์หมอไปฉีดแบบนี้มาและบอกว่ามันกระตุ้นจริงๆ ทำไมไม่ลองหาอาสาสมัคร?
ดร.อนันต์ : ก็มีคนส่งข้อมูลมาสมควร มีความพยายามจากโรงเรียนแพทย์หลายที่ ผมไปร่วมอยู่ในหลายๆ โครงการ เขาอยากเอาวิธีการฉีดใต้ผิวหนังมาใช้ เพราะมีเซลล์รับวัคซีนอยู่เยอะ และมีประสิทธิภาพทำให้เห็นวัคซีนได้ง่าย ใช้นิดเดียว ร่างกายก็จะเห็นและกระตุ้นมาได้ เป็นวิธีการที่น่าสนใจ
กรณีหมอแอ้ม วันนี้มีการฌาปนกิจตอนเย็น ที่คุยนอกรอบ หมอบอกว่าหมอแอ้มใกล้ๆ จะหาย?
นพ.สิทธิพงศ์ : ตรวจเป็นผลลบแล้ว ถามว่าทำไมเกิดเหตุขึ้นมาได้ นั่นสิครับ อยู่ดีๆ ก็ทรุดลงเลย ปอดไม่ทำงาน แล้วหัวใจวายเลย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโควิดอยู่แล้ว ตอนไปรับศพคุณพ่อลงสาเหตุการตายเยอะมาก ทั้งปอดอักเสบ ค่าหัวใจผิดปกติ ทุกอย่างมาหมดเลยครับ
พี่สาวไม่มีโรคประจำตัว?
นพ.สิทธิพงศ์ : พี่แอ้มเป็นเบาหวานหน่อยๆ แต่ก็โอเคอยู่ เขาจะอวบๆ นิดนึง
อาจารย์นวัตกรรมนี้เร็วๆ นี้?
ดร.อนันต์ : เราหวังเริ่มเฟสหนึ่งในคนภายในสิ้นปีนี้ เราจะหาอาสาสมัคร อันนี้ขึ้นอยู่กับทุกอย่างที่เราพยายามทำ
ผมยินดีเป็นอาสาสมัคร ให้ทดลองก็ได้นะ ผมยินดี เห็นมีการขายที่พ่นจมูก ป้องกันโควิดได้ บางคนบอกไม่ต้องใส่หน้ากาก จริงมั้ย?
ดร.อนันต์ : อันนี้เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เข้าไป ไม่รู้ทำหน้าที่อะไรด้วยซ้ำ ไวรัสเข้าไป ที่ฉีดเข้าไปไม่ได้เกาะทุกเซลล์ แต่ไวรัสเข้าได้ทุกเซลล์ ผมว่าวิธีที่ดีที่สุดคือหน้ากากอนามัย เพราะมันป้องกันการเข้าสู่จมูกตั้งแต่เริ่มต้น ตอนนี้ไม่มีนวัตกรรมอะไรในโลกที่เคลมว่าสามารถทำได้ ฉะนั้นอย่าเชื่อลักษณะแบบนี้ ที่พ่นไปแล้วป้องกันไม่มีนะครับ