ภาพประกอบจากหนัง Piranha 3D
ปลาปิรันยา (อังกฤษ: Piranha) เป็นชื่อสามัญเรียกปลาน้ำจืดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอยู่ในวงศ์ Serrasalmidae (หรือในวงศ์ Characidae[2]) โดยทั่วไป ปลาที่ได้ชื่อว่า "ปิรันยา" นั้นจะหมายถึงปลาในสกุล Pristobrycon, Pygocentrus, Pygopristis และ Serrasalmus แต่ก็อาจรวมถึงปลาในสกุล Catoprion ด้วย รวมกันแล้วประมาณ 40 ชนิด[3] ส่วนปลาในสกุลอื่นมักไม่นิยมเรียกว่าปลาปิรันยา ถึงแม้จะอยู่ในวงศ์ย่อยนี้ก็ตาม
ปลาปิรันยากินเนื้อเป็นอาหาร มักอยู่รวมกันเป็นฝูงขนาดใหญ่ พบในแม่น้ำอเมซอน และแม่น้ำหลายสายในทวีปอเมริกาใต้ มีฟันที่แหลมคมรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ มีส่วนหัวขนาดใหญ่ มีกล้ามเนื้อบริเวณกระพุ้งแก้มแข็งแรง ใช้สำหรับกัดกินเนื้อของสัตว์ที่ตกลงไปอยู่ใกล้ที่อยู่เป็นอาหาร โดยเฉพาะสัตว์ที่ตื่นตระหนกตกใจ หรืออยู่ในภาวะอ่อนแอบาดเจ็บ เสียงตูมตามของน้ำที่กระเพื่อม จะดึงดูดปลาปิรันยาเข้ามาอย่างว่องไว ซึ่งปลาปิรันยาจะใช้ฟันที่แหลมคมกัดกินเนื้อของสัตว์ใหญ่จนทะลุไปถึงกระดูก สันหลังได้เพียงไม่กี่นาที ความดุร้ายของปลาปิรันยาแตกต่างกันออกไปตามแต่ชนิด[3] แต่เชื่อว่าปลาปิรันยาทุกชนิดสามารถตรวจจับกลิ่นเลือดในน้ำแม้เพียง 50 แกลลอน เหมือนกับปลาฉลาม [3]
ในปลายทศวรรษที่ 70 ที่บราซิล มีอุบัติเหตุรถบัสที่วิ่งไปมาระหว่างเมือง เกิดอุบัติเหตุจมลงในแม่น้ำสาขาหนึ่งของแม่น้ำอเมซอน หลายชั่วโมงผ่านไปกว่าที่หน่วยกู้ภัยจะกว้านซากรถขึ้นมาได้ มีผู้เสียชีวิตที่ติดอยู่ในรถออกมาไม่ได้ทั้งหมด 39 ราย และส่วนใหญ่ปรากฏว่าศพของผู้เสียชีวิตถูกปลาปิรันยากัดแทะจนแทบไม่เหลือสภาพ ดั้งเดิม หนึ่งในนั้นเป็นผู้หญิง, เด็กทารก และเด็กผู้หญิง ครอบครัวเดียวกันด้วย [4] นอกจากนี้แล้วในปี ค.ศ. 2012 มีผู้ชายคนหนึ่งจมน้ำเสียชีวิตในแม่น้ำยาตา ทางตอนเหนือของโบลิเวีย แต่สภาพศพของเขา ปรากฏว่าส่วนใบหน้าถูกกัดแทะจนหายไปหมด โดยปลากัดแทะที่บริเวณใบหน้าอย่างเดียว และไม่โจมตีเข้าที่ศีรษะ เชื่อว่าเป็นการกระทำของปลาปิรันยา[3]
แต่อาหารโดยปกติของปลาปิรันยาแล้ว ก็คือ ปลาที่อยู่ในแม่น้ำ โดยอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง ก็เพื่อหลีกเลี่ยงสัตว์นักล่าชนิดอื่น ๆ ที่กินปลาปิรันยาเป็นอาหาร เช่น ปลาอะราไพม่า (Arapaima gigas), นากยักษ์ (Pteronura brasiliensis), โลมาแม่น้ำอเมซอน (Inia geoffrensis) และนกกินปลาอีกหลายชนิด รวมถึงปลาปิรันยาเองก็เป็นอาหารพื้นถิ่นของชาวพื้นบ้านอเมซอนด้วย[4]
ปลาปิรันยาจัดเป็นปลาที่อันตรายชนิดหนึ่งที่ทั่วโลกรู้จักดี ชนิดที่ดุร้ายมาก ได้แก่ ปลาปิรันยาแดง (Pygocentrus nattereri) บางประเทศ เช่น ประเทศไทย ห้ามนำเข้าตัวที่ยังมีชีวิต เพราะเกรงจะแพร่ลงสู่แหล่งน้ำและขยายพันธุ์ ปัจจุบันไทยได้กำหนดให้ปลาปิรันยาที่มีชีวิตในสกุล Serrasalmus, Rooseveltiella และ Pygocentrus ทุกชนิดรวมทั้งไข่และน้ำเชื้อของปลาดังกล่าวเป็นสัตว์น้ำที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง[5] โดยผู้ที่ฝ่าฝืนมีความผิดตาม พระราชบัญญัติการประมงมาตรา 53 และมีโทษตามมาตรา 67 ทวิ คือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนสองหมื่นบาท หรือ จำคุกไม่เกิน 6 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ [6]
คลิ๊กชมคลิป
VVV
VV
V
V