บริษัทลิขสิทธิ์การ์ตูนยันเลิกจ้างแก๊งรวบเด็กขายกระทง เผยค่าปรับคนจับได้ – เหยื่อลุยแจ้งจับ (คลิป)
เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 62 นายประจักรษ์ โพธิผล ทีมจับกระทงลิขสิทธิ์ เปิดเผยว่า ภายหลังบริษัท TAC ออกแถลงการณ์ว่าไม่ได้มอบหมายให้ผู้ใดเข้าจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์นั้น เนื่องจากบริษัทดังกล่าวเป็นฝ่ายดูแลการจัดจำหน่าย ส่วนบริษัท เวอริเซ็ค จำกัดที่ตนเป็นพนักงานนั้น เป็นฝ่ายปราบปรามโดยตรงที่ได้รับมอบอำนาจจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตนได้รับมอบหมายให้ดำเนินการด้านลิขสิทธิ์ ส่วนเรื่องการรับเงิน 50,000 บาทนั้น คาดว่าเป็นความเข้าใจผิดทางแง่กฎหมาย ที่ระบุใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ม.31 ว่าผู้กระทำผิดต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 50,000-400,000 บาท ส่วนกรณีของเด็กคือการทำซ้ำและดัดแปลงลวดลายตัวการ์ตูน ซึ่งตนมีหลักฐานว่าน้องได้ลงขายมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ตนจึงต้องออกมาปกป้องสิทธิของทางบริษัท อยากถามว่า "เด็กแตะต้องไม่ได้หรือ ถ้ากระทำความผิด"
นอกจากนี้ นายประจักษ์ ยังเปิดเผยผ่านทางโทรศัพท์ในรายการต่างคนต่างคิด ว่า ที่ผ่านมาตนแสดงเอกสารสิทธิ์ในขณะจับกุมให้ดูทุกครั้ง ตนไม่เคยมีทีมล่อซื้อเพราะผู้ขายโพสต์ลงโซเชียลเองโดยตรง ตนไม่จำเป็นต้องมีคนล่อซื้อ ส่วนกรณีของนานนัน ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับตนเพราะทำงานคนละบริษัท แต่รู้จักกันเพราะเคยเจอกันขณะจับกุม และตนไม่เคยสั่งให้ผู้เสียหายลบข้อความสั่งซื้อสินค้าทางโทรศัพท์
ด้าน ร.ต.อ.สมพร วงศ์มณี ตาของน้องอาย วัย 15 ปี ผู้เสียหายกรณีกระทงรายแรก เปิดเผยว่า ตนจะเข้าแจ้งความแน่นอน เพราะอีกฝ่ายได้กระทำการไม่เหมาะสมหลายประการ อีกทั้งยังมีการข่มขู่ลักษณะกรรโชกทรัพย์และข่มขู่ทำให้ได้รับความเสียหายทางจิตใจ ด้วยความไม่รู้เรื่องของหลานสาว จึงทำให้หลงเชื่อทำกระทงไปให้ และอีกฝ่ายพยายามจะให้หลานสาวทำให้ครบกระบวนการทำความผิด โดยมีการจ่ายเงินค่ามัดจำ และยื่นเงินค่าสินค้าด้วย
ขณะที่ นางตา (นามสมมติ) แม่ของน้องมายด์ ผู้เสียหายจากจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า วันที่ 9 ต.ค. นายนัน กิ่งเพชร สั่งออร์เดอร์ว่าต้องการกระทง ลายริลัคคุมะ 10 กาฟิว 10 โดเรม่อน 10 และเป็ด 10 อัน รวม 50 ใบ วันที่ 16 ต.ค. คือวันส่งของ ตนไปส่งของกับลูกสาวและสามี
พอถึงโลตัสที่นัดส่งของ นายนัน กิ่งเพชร คนที่สั่งซื้อกระทงอ้างตัวว่าเป็นทนายลิขสิทธิ์ และมีคนถ่ายรูปไว้ และอ้างว่าบริษัทลิขสิทธ์แจ้งมาว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ จากนั้นก็สั่งให้ขึ้นรถตำรวจไปโรงพัก พอถึงโรงพักก็ถูกจับแยกห้อง นายนัน ได้แจ้งข้อหา 3 คน คือ สามีโดนข้อหาฐานคนขับรถมาส่ง ตนโดนข้อหาฐานสมรู้ร่วมคิด และลูกสาวคนทำกระทงโดนข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ ส่วนค่าละเมิดลิขสิทธิ์ที่จะต้องจ่ายคือ 400,000 บาท พร้อมกับขู่ด้วยว่ามีโทษจำคุกถึงประหารชีวิต ตนร้องไห้ยกมือไหว้ขอร้อง แต่อีกฝ่ายไม่สนใจจะเอาเงินให้ได้ นายนันได้ลดเงินเหลือ 50,000 บาท แต่ตนหาเงินมาให้ได้แค่ 15,000 บาท สรุปอีกฝ่ายยอมลดให้เหลือ 30,000 บาท จึงจ่ายไป ยอมรับว่าเดือดร้อนมากเพราะตนเอาฉโนดที่ดินไปจำนอง และเอาสร้อยทองของลูกสาวไปขายเพื่อมาจ่าย ยืนยันว่าจะแจ้งความคืนฐานขู่กรรโชกทรัพย์
ที่ สภ. เมืองนครราชสีมา กลุ่มผู้เสียหายจากการถูกจับลิขสิทธิ์ของผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนดัง จำนวนกว่า 20 ราย ได้เดินทางเข้าให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่สภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้จัดเตรียมทีมทนายความ 20 คน เข้ารับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้ที่เดือดร้อนจากการถูกจับกุมลิขสิทธิ์ โดยทีมทนายความได้ทำการตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริง และคัดแยกกลุ่มผู้ที่ถูกจับกุมว่า ผู้ที่ถูกจับกุมรายใดกระทำผิดจริง และผู้ถูกจับกุมรายใดเข้าข่ายถูกกรรโชกทรัพย์ ก่อนจะพิจารณาแจ้งความดำเนินคดีกับตัวแทนลิขสิทธิ์
ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า หลังจากทราบจากสื่อมวลชนกรณีของเด็กอายุ 15 ปี ที่กำลังเป็นวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมจำนวนมาก วันนี้ได้เดินทางมาตรวจสอบข้อเท็จให้กระจ่างว่า ใครมีความผิด และได้จะจัดเตรียมนัดสหวิชาชีพ เพื่อเข้ามาสอบสวน กรณีของ เด็กอายุ 15 ปีว่าใครเป็นฝ่ายกระทำผิด โดยจะมีการตรวจสอบอย่างแน่นอนว่า เจ้าของลิขสิทธิ์ได้กระทำการณ์ถูกต้องหรือไม่ และหากถูกต้องก็พร้อมที่จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ส่วนขั้นตอนและกระบวนการของผู้ที่มาแจ้งความร้องทุกข์ก็จะมีการสอบสวน และหากพบว่ามีการกรรโชกทรัพย์จริง ก็จะเร่งดำเนินคดีตามกฎหมายแน่นอน
ด้าน นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า แนวคำพิพากษาศาลฎีกาบอกไว้ชัดเจนแล้วว่า การล่อให้กระทำความผิด เท่ากับเป็นผู้ก่อให้เขากระทำความผิดจึงไม่เป็นผู้เสียหาย ตามกฎหมายที่จะดำเนินคดีได้ การล่อให้เขากระทำความผิดไม่ใช่การล่อซื้อ เช่น ถ้ากรณีปกติไม่ได้มีการผลิตขึ้นจำหน่าย แต่ไปสั่งให้เขาทำแล้วก็เอาตำรวจไปจับ อย่างนี้ถือเป็นการล่อให้กระทำความผิด แต่ถ้ามีการผลิตจำหน่ายอยู่ก่อนแล้วไปติดต่อขอซื้อ ถือเป็นการล่อซื้อ เมื่อศาลเคยตัดสินแล้วว่า คดีเช่นนี้ไม่เป็นผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีได้ ส่วนปัญหาต่อมา คือการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามการชี้ให้จับของผู้ที่อ้างตนว่าเป็นผู้เสียหาย (อ้างเป็นผู้แทนบริษัทที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์) จนถึงขั้นมีการเรียกร้องค่าเสียหายกัน จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คงต้องมีการดำเนินการสอบสวนโดยละเอียด เพราะมีข่าวออกมาว่า บริษัทของลิขสิทธิ์ ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้มีการมอบอำนาจให้ผู้ใดไปจับ จึงเกิดคำถามได้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปจับ ถูกหลอกลวงด้วยหรือไม่ แล้วได้ตรวจสอบหนังสือมอบอำนาจถูกต้องแล้วหรือไม่
ส่วน นายวรกร พงศ์ธนากุล ทนายความ เปิดเผยว่า ปัญหาที่คนส่วนใหญ่เจออยู่ในขณะนี้ คือ ไม่มีเงินจ่ายค่าประกันตัว สุดท้ายก็ถูกบีบให้จ่ายเงินค่าประกันตัว ไม่งั้นก็ต้องนอนคุก ฉะนั้นการแก้กฏหมายในเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ ประชาชนจะได้สู้คดีกันแบบแฟร์ ๆ ถือเป็นช่องโหว่ของข้อกฏหมายที่มีมานาน ในวันพรุ่งนี้ตนจะไปร้องเรียนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนวิธีการป้องการโดนจับลิขสิทธิ์ นั้น ต้องบันทึกข้อความแชตล่อซื้อห้ามลบเด็ดขาด ควรดูเอกสารมอบอำนาจว่าระยะเวลามีสิทธิ์จับกุมหมดอายุหรือยัง ถ่ายรูปหรือถ่ายวีดีโอไว้ ถ้าจะสู้คดี ให้เตรียมเงินไว้ 50,000 บาท
ขณะที่นายสมพงษ์ (นามสมมติ) เจ้าหน้าที่กฎหมายของบริษัทลิขสิทธิ์แห่งหนึ่งที่เคยออกบัตรให้ นายนัน กิ่งเพชร เปิดเผยว่า ยอมรับว่านายนันเคยเป็นพนักงานผู้มีอำนาจช่วงในการปราบปรามลิชสิทธิ์ของบริษัท โดยนายนันได้รับมอบอำนาจอยู่กับบริษัทราว 1 ปี และบริษัทเลิกให้อำนาจมาแล้วราว 2-3 เดือน เนื่องจากพบพฤติกรรมไปปราบปรามลิขสิทธิ์ของบริษัทอื่น ซึ่งผิดกฏบริษัท
ส่วนเงินค่าปรับที่มีการตกลงเจรจากับผู้กระทำความผิด ก็จะมอบให้กับพนักงานปราบปรามฯ เนื่องจากจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ซึ่งกรณีขึ้นอยู่กับทางบริษัทนั้น ๆ ซึ่งบริษัทไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับเงินค่าปรับ นอกจากนี้บริษัทไม่เคยจับลิขสิทธิ์เรื่องกระทง และมองว่าหากผู้กระทำผิดทำสินค้าประเภทนี้ที่ย่อยสลายได้ และทำตามเทศกาล ก็ไม่แนะนำให้มีการจับกุม ถึงแม้จะมีความผิด ให้ใช้วิธีการตักเตือนแทน