กรมศิลป์ แจ้งความม็อบ ฝังหมุดคณะราษฎรที่สนามหลวง


กรมศิลป์ แจ้งความม็อบ ฝังหมุดคณะราษฎรที่สนามหลวง

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 21 กันยายน ที่ สน.ชนะสงคราม นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการกองโบราณคดี ในฐานะตัวแทนจากกรมศิลปากร เข้าแจ้งความกับ ร.ต.ท.วัชรพงษ์ ทองแดง รอง สว.(สอบสวน) สน.ชนะสงคราม ในความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 กรณีกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดการชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร โดยใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง ซึ่งแกนนำผู้ชุมนุมยังได้ปักหมุดคณะราษฎรที่ 2 บริเวณลานปูนที่ท้องสนามหลวง ซึ่งพนักงานสอบสวนกำลังสอบปากคำพร้อมตรวจสอบพยานหลักฐานต่างๆ ที่นำมา



มีรายงานว่า เมื่อวานนี้ (20 ก.ย.) กรุงเทพมหานครและสำนักงานเขตพระนครได้แจ้งความกับพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ในกรณีดังกล่าวในฐานะผู้แจ้งความที่ 1 ส่วนตำรวจถือเป็นผู้แจ้งความที่ 2 เนื่องจากกรมศิลปากรได้จัดให้สนามหลวงเป็นสมบัติของชาติและส่วนรวมที่อยู่ในการควบคุมดูแลของ กทม.เพื่อให้ประชาชนใช้ออกกำลังกายหรือพักผ่อนหย่อนใจ การขุดเจาะต่างๆ ต้องขออนุญาตจากกรมศิลปากร เมื่อเกิดการชุมนุมหรือขุดขึ้นมาจึงถือเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา หน่วยงานของเจ้าหน้าที่รัฐจึงมีสิทธิ์แจ้งความ ฉะนั้นกรมศิลปกากรจึงถือเป็นผู้แจ้งความที่ 3.

กรมศิลป์ แจ้งความม็อบ ฝังหมุดคณะราษฎรที่สนามหลวง


ทางด้าน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นหนังสือร้องเอาผิดแกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาตร์และการชุมนุม นำกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่สนามหลวงและ มีการปักหมุดคณะราษฏร 2563 ลงบนพื้นซีเมนต์ กลางสนามหลวง กับผอ.กรมศิลปากร โดยมีนายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี รองอธิบดีกรมศิลปากร เป็นตัวแทนรับเรื่อง

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ตามที่กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ฝ่าฝืนกฎหมายโดยการบุกรุกเข้าใช้สนามหลวงโดยไม่ได้ขออนุญาตจาก กทม.และมีการตัดทำลายรั้วซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการออกเมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมาและเมื่อเช้ามืดวันที่ 20 ก.ย. ได้ทำการเจาะพื้นสนามหลวงให้เสียหาย และได้ทำพิธีฝังหมุดคณะราษฎร หมุดที่ 2 ลงในพื้นที่สนามหลวงตามที่ได้มีการเตรียมการไว้แล้วนั้น

กรมศิลป์ แจ้งความม็อบ ฝังหมุดคณะราษฎรที่สนามหลวง


ทั้งนี้ สนามหลวง ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ มาตั้งแต่ปี 2520 มีชื่อว่า "โบราณสถานทุ่งพระเมรุ (สนามหลวง)" โดยที่ ม.32 ของ พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 ระบุว่าผู้ใดบุกรุกโบราณสถาน หรือทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้เสื่อมค่าหรือ ทําให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 7 แสนบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ และโทษของการบุกรุกและทำลายโบราณสถานจะหนักขึ้นเป็น จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าโบราณสถานแห่งนั้นเป็นโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว

จากกรณีดังกล่าวทำให้ทางสมาคมเห็นว่า แกนนำ ซึ่งมีรายชื่อที่ได้รวบรวมมาทั้งหมด 18 คน จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว และตนได้นำรายชื่อทั้ง 18 คนมามอบให้กับทาง กรมศิลปากร ไว้เป็นพยานหลักฐานนำไปสู่การแจ้งความกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป

ส่วนกรณีความเห็นของ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่โพสต์ข้อความบน Facebook ตั้งข้อสังเกตว่าการปักหมุดคณะราษฎร์ 63 นั้น เป็นการเจาะบนพื้นซีเมนต์ที่พึ่งสร้างมาใหม่ ไม่ส่งผลกระทบต่อสนามหญ้า ที่มีมาดั้งเดิมของสนามหลวง จึงจะเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.โบราณสถานฯ หรือไม่ นายศรีสุวรรณมองว่า จะสร้างมากี่วันกี่เดือนกี่ปีก็ถือว่าเป็นทรัพย์สินของโบราณสถาน ใครจะกระทำการใดๆจะต้องมีการขออนุญาตต่อกรมศิลปากรหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง จะอ้างว่าสร้างมานานหรือเพิ่งสร้างแต่อย่างใดนั้นกฎหมายไม่ได้ระบุไว้ ใครไปดำเนินการใดๆก็ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายโบราณสถาน

นายศรีสุวรรณเปิดเผยว่า จากนั้นตนจะเดินทางไปยังสำนักงานเขตพระนคร เพื่อยื่นหนังสือเอาผิด แกนนำด้วยเช่นกัน ในฐานร่วมกันกระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

ด้านนายอรุณศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางกรมศิลปากรได้มีการประชุมรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อที่จะดูว่าการชุมนุมมีความผิดอะไรบ้าง จากนั้นก็จะมีการแจ้งความดำเนินคดีกับทางเจ้าหน้าที่ต่อไป ส่วนกรณีที่มีการรื้อถอนหมุดออกไปนั้น ยืนยันว่าไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของกรมศิลปากร.


กรมศิลป์ แจ้งความม็อบ ฝังหมุดคณะราษฎรที่สนามหลวง


กรมศิลป์ แจ้งความม็อบ ฝังหมุดคณะราษฎรที่สนามหลวง

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี One 31


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
เช็คเบอร์มือถือ คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์