เสียงจากคนผ่านม็อบ“อรรถวิชช์” ชี้เหยียบย่ำหัวใจคนไทย ศัตรูจะเป็นมวลชน!
"วันที่ตัดสินใจใช้น้ำ เป็นเบสิกเบื้องต้น พอเขาเริ่มใช้น้ำ ผมก็คิดว่าทำไมเร็วจัง ปกติจับแกนนำพูดจาหมิ่นผิดกฎหมายก็ว่ากันไป แต่พอเริ่มสลายการชุมนุม ผมถามใจแรกทำไมสลายเร็ว แต่พออ่านละเอียดอ๋อ อยู่ใกล้วังสระปทุม คือมีระยะตามกฎหมาย พอใกล้เกินไป มันเป็นระยะที่สุ่มเสี่ยง ที่ผมบอกว่าเป้าหมายการชุมนุมต้องชัด ถ้าเป้าหมายพูดเรื่องรัฐบาล การสืบทอดอำนาจ รัฐธรรมนูญ ผมว่าแบบนี้เขาไม่น่าสลายหรอก แต่พอมีเรื่องสถาบันชัดเจน แล้วตรงวังสระปทุม สมเด็จพระเทพฯอยู่ที่นั่น มันก็อันตรายเกินไป ผมก็เห็นใจเจ้าหน้าที่ ขณะเดียวกันก็เห็นใจน้องๆ ถ้าเราได้ไขข้อสงสัยของน้องๆ ในบางประเด็นได้บ้างก็น่าจะดี"
จะมีโอกาสไปถึงแก๊สน้ำตา กระสุนยางมั้ย?
"มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งนั้น ถ้าหัวข้อยังอยู่เรื่องสถาบัน รวมถึงมือที่สามจะเกิดขึ้นอีก น้องๆ คิดเรื่องเสรีภาพเป็นเรื่องของเรา เพราะชุดข้อมูลมันต่างกัน แต่ขอร้องว่าเรื่องไหนเหยียบย่ำใจอย่าไปทำเถอะ เพราะคู่อริเราไม่ได้มีแค่รัฐ คุณเป็นศัตรูกับมวลชน เราเตือนๆ กันครับ"
สองทุ่มเขาสลายการชุมนุมแล้ว แบบนี้จะรุนแรงมั้ย?
"ผมคิดว่าพอไปได้ แต่ขณะนี้ รัฐบาลเลือกจับเฉพาะกรณีที่มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และปลุกระดมยั่วยุรุนแรง ซึ่งเขาลดโทนมาเหมือนกัน เรื่องแกนนำก็เรื่องนึง แต่ที่ห่วงคือทำกับม็อบโดยรวม ต้องรักษาระยะดูดีๆ นิดนึง"
กลุ่มออกมาชุมนุม เขาสงสัยเรื่องงบประมาณ จัดเก็บภาษี และทำเป็นงบประมาณในส่วนต่างๆ เขาบอกบางส่วนตรวจสอบไม่ได้ จริงมั้ย?
"งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการอารักขาองค์ประมุขต้องเข้าสภาอยู่แล้ว การตรวจสอบก็เกิดในสภานี่แหละ ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้หมด และในสภาผู้แทนราษฎร มีเอกสิทธิ์ คือคุณพูดได้เลย ไม่หมิ่น ไม่เป็นไร มากไปน้อยไป ได้หมดเลย ซึ่งเป็นแบบนี้มาช้านานแล้ว ผมเลยบอกได้เลยว่าไม่จริง ต้องให้ความเป็นธรรมกับสถาบัน ไม่งั้นกลายเป็นข้อมูลข้างเดียว ส.ส.ที่เลือกเข้าไปนี่แหละทำหน้าที่นี้"
"บางคนบอกไม่ใช่ เอาแค่ปรับปรุงโครงสร้างบ้างของสถาบัน อันนี้ก็ไม่ชัดว่าเขาจะไปแนวไหน อยากชวนคิดว่า 200 กว่าปีในกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ไม่เคยทำร้ายประเทศ แต่เราเห็นประธานาธิบดีทำร้ายประเทศเป็นระยะๆ แล้วสภาพโครงสร้างการเมืองไทยที่ไม่นิ่ง ลองคิดดูว่าจะเป็นยังไง แต่เราโชคดีในยุคที่เรามีพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เราผ่านยุคนั้นมาแล้ว ผมคิดว่าน้องๆ มาอยู่ในยุคถนนเสร็จแล้ว ไฟฟ้าใช้แล้ว น้ำมันไหล แต่ถ้าคิดว่าก่อนหน้านี้น้ำไม่ไหลนะ ประปามันไม่มีนะ ในหลวงท่านสร้างโครงการพระราชดำริ 4 พันกว่าโครงการ ท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์และ เป็นนักทดลอง และไปทำหลายๆ ที่ 4 พันกว่าโครงการรัฐบาลก็รับไปทำต่อ ขยายต่อ ผมคิดว่าเราโชคดีที่สถาบันในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างที่ดีกับรัฐบาล เพราะเราจะเห็นว่ารัฐบาลเองแย่งชิงอำนาจกันตลอด แม้แต่น้องๆ เข้าใจกันเรื่องวิกฤตตุลา 16 วิกฤตตุลา 19 ทำไมถึงฆ่าตายขนาดนั้น ตอนนั้นการข่าวเองก็พยายามให้คนเข้าใจนักศึกษาอีกอย่าง ทำให้เกิดการเข่นฆ่ากัน แล้วเอาสถาบันนี่แหละเป็นตัวประกันอยู่ดี ถ้าใครเห็นภาพนึงที่นักศึกษาว่ายน้ำไปกราบพระเจ้าอยู่หัว ภาพนี้สำหรับผม ผมมองคนในอดีต นี่ไงไม่ใช่ซ้ายไม่ใช่ขวา พระเจ้าอยู่หัวยังคงเป็นองค์ที่พวกเราพึ่งพาได้ และเชื่อว่าคุณพ่อทั้งหลายที่ไปในยุคนั้นก็ติติงระบอบพระมหากษัตริย์ แต่สุดท้ายแล้วก็เข้าไปพึ่งพระองค์ท่านอยู่ดี ผมถึงบอกว่าสถาบันยกเอาไว้เลย ให้อยู่เหนือการเมืองถูกแล้ว การเมืองก็ปล่อยไป ฝ่ายรัฐบาลตีกับฝ่ายค้านก็เป็นธรรมชาติของการเมือง แต่วันนี้เกมมันเปลี่ยน อย่าทำให้ตุลา 63 กลายเป็นตุลา 16 19 เพราะมันจะไม่ได้จบที่รุ่นเรา มันจะเป็นการวนต่อไม่รู้จบ จากรุ่นนี้ไปสู่อีกรุ่นนึง ถ้าอยากให้จบที่รุ่นเรา อย่าดึงสถาบันมาเกี่ยวพัน ประสบการณ์มันบอกแล้วเวลาดึงออกมามันยุ่ง"
"ผมว่าสื่อบิดเบือนต้องทำอยู่แล้วตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่การปิดสื่อไม่ให้สื่อสารได้ในบางอัน ผมว่าอย่าไปทำเลย การมีสื่อไว้ดีกว่า อย่ามองแง่มุมลบว่าใช้ในการปั่นอย่างเดียว ถ้าคิดว่ามีการยุยง รัฐก็รู้นี่ มีการตรวจสอบได้อยู่แล้ว ถ้ายุยงผิดปกติก็เข้าไปจัดการได้ แต่การเปิดไว้ดีสำหรับดูเรื่องความปลอดภัย ทั้งของผู้ชุมนุมเองและประชาชน เราก็เห็นว่าเขาเคลื่อนไหวกันยังไง ในม็อบเขาจะได้ช่วยกันดูว่าตรงไหนอันตรายมั้ย ผมก็เรียนอีกครั้งว่าม็อบตอนนี้กับม็อบเมื่อ 7 ปีที่แล้ว เทคโนโลยีต่างกันเยอะ ม็อบขณะนี้การที่มีโซเชียลมีเดียอยู่ อีกมุมคือความรุนแรงน้อยลง เพราะถ้าเกิดทำอะไรเกินความเป็นจริง ทุกคนมีมือถือ เราสามารถบอกได้ว่านี่รุนแรง เป็นมือที่สาม มาแทรกแซง ผมว่าเปิดไว้ดีกว่า ถ้าใครมีปัญหาค่อยเข้าจัดการตามกลไกตามกฎหมาย โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ก็จัดการให้มันถูกตามขั้นตอน"
"ผมว่าไม่มีทางเกิด อย่างน้อยๆ ตัวผมเองและเพื่อนๆ พี่ๆ ทุกคน เราอยู่ในพรรคกล้า ทุกคนไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง"
ม็อบเขามองไม่ออกเหรอว่ามันเป็นไปไม่ได้?
"มันเป็นความเชื่อหลายอย่าง ผมว่าเรื่องสถาบันน้องๆ เขาอาจคิดลึกไปอีกมุม ขอพูดเรื่องนึง ผมเข้าใจนะว่าการปลูกฝังบอกว่าคนเท่าเทียม พรรคการเมืองบางพรรคก็เอาไปเป็นสโลแกนด้วยซ้ำว่าคนเท่าเทียม ผมว่าน่าจะพูดให้จบ คนเท่าเทียมก็เรื่องนึง แต่คิดว่าคนแตกต่างกันโดยเราต้องเคารพในความแตกต่างต่างหาก คือความสำคัญของมัน สิ่งที่ทำให้คนแตกต่างคือหน้าที่ ศาลตัดสินคนได้ เราตัดสินคนไม่ได้ ตร.ถือปืนได้ คนทั่วไปถือปืนไม่ได้ หน้าที่ต่างหากทำให้คนแตกต่าง สถาบันพระมหากษัตริย์ก็เช่นเดียวกัน พระองค์ท่านมีหน้าที่ที่ตามมาในการสืบสันตติวงศ์ ให้ประเทศไทยดีขึ้น ฉะนั้นผมว่าหน้าที่คือทำให้คนต่าง และการเคารพความแตกต่างของคนคือประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ใช่พูดห้วนๆ แค่ประโยคความเท่าเทียมเท่านั้น ผมว่ากระดุมเม็ดนี้ถ้ากลัดให้ถูกจะมีความชัดเจนมากขึ้นในทางการเมืองและในการชุมนุม"
ตอนนี้ที่หนักหนาคือคนไม่กล้าแสดงความคิดเห็นในทางการเมือง พอคิดต่างก็ถูกคุกคาม ถูกทัวร์ลงบ้าง ถูกแอนตี้บ้าง ถ้าเป็นแบบนี้จะเป็นยังไง?
"ผมว่าอย่าไปอายหรือไปกลัวว่าเรารักสถาบัน เพราะสถาบันเป็นโครงสร้างหลักของชาติ แต่ว่าเราลดละข้อความที่เสียดสีซึ่งกันและกัน คือน้องๆ เขาก็มีมุมของเขา ผู้ใหญ่ก็มีมุมผู้ใหญ่เหมือนกัน เป็นช่องว่างระหว่างเจนเนอเรชั่น แล้วโลกโซเชียลมีเดียเปลี่ยนไปเยอะ เจนมีที่เกิดขึ้น เรานึกว่าเราเป็นศูนย์กลาง เพราะเทคโนโลยีมันเลือกให้เราดู ฉะนั้นอย่าไปติดกับเทคโนโลบี บางทีแลกโทรศัพท์กันดูบ้าง (หัวเราะ) เรารวมกันไว้ อย่าให้แตกแยก แตกแยกไปไม่มีประโยชน์ เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็นระบอบไหนก็แล้วแต่ เผด็จการ หรือประชาธิปไตย ระบอบไหนในโลก หัวใจมันมีอยู่อย่างเดียว ว่าความอยู่ดีกินดีของคน มันมีหรือเปล่า เศรษฐกิจดีมั้ย ถ้าเศรษฐกิจดี การศึกษา ความเหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นยังไง ไม่ว่าระบอบไหนเป้าหมายนี้กันทั้งนั้น ผมคิดว่าเราลดทิฐิลงแล้วไปที่เป้าหมายเลย ก็อาจทำให้วิธีการบริหารประเทศหรือการเมืองมันเปลี่ยน"
"บางข้อก็แปลก อย่างเช่นการยุบสภา กับการแก้รัฐธรรมนูญ มันอยู่ด้วยกันไม่ได้ เพราะคนแก้ได้คือคนที่นั่งในสภา ส.ส. สว. ยุบเลยจะนำไปสู่การแก้ไม่ได้ มันต้องมีข้อเสนอที่ชัดเจน ถ้าให้คิดเร็วๆ ตอนนี้ ผมคิดว่าหนึ่งเสนอแก้รัฐธรรมนูญก่อน 272 ห้ามสว.โหวตนายกฯ เอาประเด็นเดียว พอเสร็จเรียบร้อยก็กำหนดเวลาให้ชัดเจนว่าเมื่อไหร่ยุบสภา ยุบสภาปุ๊บ เมื่อไหร่ไปตั้งสสร. พิจารณารัฐธรรมนูญทั้งฉบับร่วมกัน และให้เขามีส่วนร่วมด้วย ผมว่าแบบนี้มีโอกาสเป็นไปได้ แต่ถ้าพูดแบบหักดิบไปเลย ไม่มีทางเกิด"