ทางออกหรือปาหี่! วิปรัฐบาล-วิปฝ่ายค้าน ถกเดือด


ทางออกหรือปาหี่! วิปรัฐบาล-วิปฝ่ายค้าน ถกเดือด

ทางออกหรือปาหี่! วิปรัฐบาล-วิปฝ่ายค้าน ถกเดือด เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ วอนอย่าเติมเชื้อไฟ ให้เกิดหายนะประเทศ

กรณีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ 26-27 ต.ค. โดย ครม.อ้างอิงวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความเห็นของสมาชิกรัฐสภา 3 เรื่อง แต่เกิดคำถามถึงผลลัพธ์ของหาทางออกร่วมกัน และมีการพูดถึงกันว่าการเปิดประชุมสภาในครั้งนี้เป็นปาหี่หรือไม่ จะสามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่

รายการโหนกระแสวันที่ 26 ต.ค. หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 เปิดใจสัมภาษณ์ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ เลขาฯ คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น

การหาทางออกในครั้งนี้จริงๆ แนวหลักของเรื่องคือการชุมนุม
ชัยวุฒิ : ใช่ครับ มันมาสืบเนื่องมาจากการชุมนุม มีความรุนแรงของผู้ประท้วงในบางเรื่องนำไปสู่การประกาศพ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง นำไปสู่การกระทบกับสิทธิเสรีภาพประชาชนหลายเรื่อง รัฐบาลจึงเสนอให้เปิดประชุมวิสามัญ ซึ่่งปกติไม่ค่อยมีนะที่รัฐบาลจะขอเปิดประชุมวิสามัญในเรื่องแบบนี้

ที่บอกว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้น รุนแรงตรงส่วนไหน
ชัยวุฒิ : ถ้าตามญัตติที่รัฐบาลเสนอประกอบด้วย 3 เรื่อง เรื่องแรกคือสถานการณ์โควิดซึ่งเกี่ยวด้วย มีผลกระทบต่อประชาชน ที่รัฐบาลก็อยากให้พูดคุยเรื่องนี้ สองผู้ชุมนุมบางส่วนขัดขวางขบวนเสด็จ มีการจาบจ้วงซึ่งทำให้พี่น้องประชาชนไม่สบายใจทั้งประเทศ สามคือเรื่องการสลายการชุมนุม มีการใช้รถน้ำฉีดและมีผู้เรียกร้องว่าใช้ความรุนแรงมากเกินไป รวมถึงข้อเรียกร้องต่างๆ ของผู้ชุมนุม ซึ่งก็ทราบกันดีว่าเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก เรียกร้องที่สภาให้แก้รัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่กระทบจิตใจประชาชนชาวไทยเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่มาของความจำเป็นที่เราต้องเปิดประชุมสภาเพื่ออภิปรายและแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้




หลักๆ เลย เหตุการณ์ประชุมในสภา จะมีการพูดคุยเรื่องลาออกนายกฯ มั้ย
ชัยวุฒิ : พูดสิครับ ครับ ส.ส.หลายท่านก็พูดอยากให้ท่านนายกฯ ลาออกแต่บางส่วนก็บอกว่านายกฯ ไม่ควรลาออก เขาก็บอกว่านายกฯ ทำงานมาดีแล้ว แก้ปัญหาโควิด และมีความสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนประเทศต่อไป และท่านก็มาถูกต้องตามการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คนเชียร์ท่านก็เยอะ โอเคคนไม่เห็นด้วยเห็นต่างก็เยอะ ก็เป็นเรื่องที่ท่านนายกฯ และรัฐบาลต้องตัดสินใจต่อไป

เรื่อง 250 สว. ที่ถูกดันให้โหวตนายกฯ ตรงนี้เขาอยากให้แก้
ชัยวุฒิ : เป็นสิ่งที่ทำได้ อยู่ในกรอบที่ส.ส. สว. ต้องมาคุยกันว่าจะแก้ได้หรือไม่อย่างไร ซึ่งต้องรออีกวาระหนึ่งนะครับ ไมใช่วันนี้ อีกญัตตินึงซึ่งอาจจะเกิดในสัปดาห์หน้าก็เป็นไปได้

เท่าที่ดูทรงแล้ว ทิศทางจะแก้ไขอย่างไรในมุมรัฐบาล
ชัยวุฒิ : รัฐบาลเปิดเวทีสภาขึ้นมาเพื่อให้มีการพูดคุยและรับฟังความคิดเห็น ส่วนจะสรุปได้ยังไง ต้องรอดูการอภิปรายเสร็จสิ้น

ผู้อภิปรายทางวิปรัฐบาลจัดตั้งขึ้นมากี่คน
ชัยวุฒิ : มีประมาณ 10 คน คนที่รู้จักก็มีท่านปารีณา ท่านสิระ ท่านไพบูลย์ ส.ส. หลายๆ ท่าน ทั้งคนรุ่นใหม่รุ่นเก่า ช่วยกันแสดงความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ต่อบ้านเมือง

ฝ่ายค้านมองยังไง นายกฯ ควรต้องลาออกมั้ย
ชลน่าน :เอากรอบคร่าวๆ ก่อน การเปิดวิสามัญครั้งนี้ เหตุที่ต้องเปิดวิสามัญชัดๆ คือรัฐบาลอาศัยมาตรา 165 ที่บอกว่ากรณีมีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นควรจะฟังความคิดเห็น สว.ส.ส. ก็ขอเปิดอภิปรายทั่วไป ดังนั้น 165 ชัดเจนว่ารัฐบาลต้องเห็นเป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งตรงนี้ประกอบกับการเปิดวิสามัญได้ รัฐบาลขอเปิด ก็เป็นอำนาจที่รัฐธรรมนูญเขียนให้ เพราะการเปิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 122 กรณีมีความสำคัญที่เป็นประโยชน์กับประเทศ พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมสมัยวิสามัญก็ได้ เป็นอำนาจฝ่ายครม. ซึ่งจริงๆ ถามว่าดีมั้ยก็ดี เพราะฝ่ายค้านเราเองก็พยายามรวบรวมรายชื่อขอเปิดอยู่เหมือนกัน ซึ่งการเปิดวิสามัญเปิดได้ 2 ช่องทาง ครม. ตาม 122 สมาชิกตาม123 แต่ต้องเข้าชื่อ 1 ใน 3 ต้องได้ 246 ขึ้นไปเป็นอย่างน้อย ท่านประธานเห็นว่าน่าจะยาก ก็เลยปรึกษาหารือกัน 4 ฝ่าย และทำเรื่องแจ้งไปที่ครม.


ทางออกหรือปาหี่! วิปรัฐบาล-วิปฝ่ายค้าน ถกเดือด

มีรัฐมนตรี ครม.ฝ่ายค้าน รัฐบาล และสว. แบ่งจำนวนเวลาการประชุมกันยังไง

ชลน่าน :พอเปิดเสร็จแล้วก็มีข้อสรุปว่าญัตติมาจากรัฐบาล มองว่าเป็นปัญหา สามประเด็นนั้นเป็นข้อเท็จจริงสนับสนุนตัวปัญหา ข้อสรุปการอภิปรายแบ่งเวลาเป็น 4 ฝ่าย ใช้เวลา 23 ชม. ฝายค้าน 8 ชม. รัฐบาล แต่ครม.ได้ 5 ชม. รัฐบาลได้ 5 ชม. สว. 5 ชม. ที่เหลือก็เป็นเวลาของท่านประธานไป กรณีนี้ไม่ว่ากัน ปกติถ้าคิดภาพรวมก็คิด 3 กลุ่ม คือ ค้าน รัฐบาล สว. ถ้ามีการพูดคุยกันทุกคร้ั้ง เราก็คุยกันตลอด ส่วนใหญ่ 3 หาร ถ้าฝ่ายค้านได้ 8 รัฐบาลก็ควร 8 สว.ก็ 8 แต่ขณะนี้อาจมีข้อตกลงภายในกันระหว่างสว.เอง ที่ลดตัวเองเหลือ 5 ไปเพิ่มให้ครม. เป็น 10 ชม. รวมครม.และฝ่ายส.ส.รัฐบาล ประเด็นที่อยากแก้ ประเด็นแรกที่คุณหนุ่มบอกว่าจะเป็นปาหี่มั้ย

สุดท้ายจะเหมือนสงครามน้ำลาย
ชลน่าน : ผมฟังคำพูดนี้ เป็นสมาชิกรัฐสภาควรโกรธแต่ไม่โกรธ ต้องเข้าใจคนมอง เขามองพฤติกรรมข้อเท็จจริงเป็นหลัก สภาตั้งแต่เปิดไม่สามารถตอบสนองข้อเรียกร้องได้ แม้อภิปรายทั่วไป ไม่ไว้วางใจ มีญัตติเข้า ข้อเสนอต่างๆ ที่ออกจากสภาก็ให้ฝ่ายบริหารนำไปปฏิบัติ พอไม่เคยมีการปฏิบัติ พอไม่ปฏิบัติจะมีมาตรการอะไรไปให้เขาปฏิบัติ เรามีการถ่วงดุลอำนาจกัน อำนาจฝั่งนึงคือตุลาการ ซึ่งถ้าดุลอำนาจกันการปฏิบัติของแต่ละฝ่ายจะเป็นไปได้ด้วยดี พอของเรามันขาดไงครับ พอขาดปุ๊บพี่น้องก็บอกว่าเป็นปาหี่ ไม่เกิดประโยชน์ ก็ยอมรับ แต่ก็ขอบคุณรัฐบาลที่ใช้เวทีรัฐสภาแก้ปัญหาเพราะเราอยู่ในระบบรัฐสภา ที่พึ่งที่หวังที่ดีที่สุดก็ต้องเป็นรัฐสภา เราจะไปแก้ปัญหานอกสภา บนถนนไม่ได้ ข้อเรียกร้องต่างๆ ควรอยู่ตรงนี้ แม้จะสำเร็จหรือไม่ควรก็ควรให้เป็นกลไก

ธงฝ่ายค้านอยากให้เป็นแบบไหน
ชลน่าน : เมื่อรัฐบาลเห็นว่าปัญหาคือการชุมนุม ข้อเรียกร้องคือปัญหา และเขียนสิ่งที่เกิดขึ้นในการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโควิด ความจำเป็นในการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง เรื่องรบกวนขบวนเสด็จอะไรต่างๆ เรื่องการสลายการชุมนุม เรื่องกลัวการจัดมวลชนมาปะทะกัน เขาก็เลยอยากฟังว่าสมาชิกจะให้ความเห็นอย่างไร เป็นทางออกประเทศได้อย่างไร ฝ่ายค้านเราคุยกันชัด แก้ปัญหาต้องมองที่ต้นเหตุของปัญหา

ต้นเหตุปัญหาที่ฝ่ายค้านมองคือ
ชลน่าน : มองว่าต้นเหตุปัญหา ทั้งปัญหาที่เกิดจากรากเหง้าของปัญหา และตัวต้นเหตุที่เกิดในปัจจุบัน รากเหง้าปัญหาพูดกันตรงๆ ก็เกิดจากการมุ่งสู่การสืบทอดอำนาจ

มองไปถึงนายกฯ นั่นแหละ
ชลน่าน : เราไม่ได้มองนายกฯ อย่างเดียว เรามององค์คณะทั้งหมดนั่นแหละ เมื่อคุณต้องการสืบทอดอำนาจก็ไปทำรัฐธรรมนูญมารองรับ เลยเกิดข้อเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ ทีนี้พอมาถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจนเขาทนไม่ได้ เมื่อคุณเข้าสู่อำนาจ คุณยังใช้อำนาจไม่เป็น บริหารประเทศล้มเหลว วิกฤตเศรษฐกิจ เรื่องความเชื่อมั่น เรื่องความแตกแยก เรื่องความเหลื่อมล้ำ วิกฤตศรัทธาจนทุกอย่างเกิดเป็นศูนย์ ไม่ใช่แค่นักศึกษา คนอื่นอยากออกแต่ออกไม่ได้

สมมติวันนี้นายกฯ ลาออก ถ้าคนมาแทนนายกฯ คนต่อไปก็ยังอยู่ในรัฐบาลนี้ จบมั้ย
ชลน่าน : ทุกอย่างอยู่ในระบบรัฐสภา ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มันเลี่ยงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เมื่อนายกฯ ลาออก เป็นข้อเสนอ ผมว่าฝ่ายค้านทุกคนพูดประเด็นนี้ ตัวต้นเหตุปัญหาคือตัวนายกฯ และการบริหารงานนายกฯ แน่นอนว่าการแก้ปัญหาก็มีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เรื่องการชุมนุม การบริหารการชุมนุม ซึ่งการบริหารการชุมนุมทำให้เกิดปัญหาจนเกิดการขยายการชุมนุม การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงมีปัญหา การสลายการชุมนุมมีปัญหา สิ่งเหล่านี้ก็เป็นข้อเสนอเรา อย่างผมเมื่อคุณยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง คนที่ถูกคุมขังขณะนี้ 46 คน จากการประกาศครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับกฎหมายอื่น คดีที่เกิดจากการประกาศสถานการฉุกเฉิน ก็ต้องได้รับการปล่อยออกมา กฎหมายไม่มีแล้ว แล้วจะฟ้องเขาข้อหาอะไร การแก้รัฐธรรมนูญก็เสนอกัน แล้วตัวนายกฯ ท่านก็ต้องพิจารณาว่าถ้าจะช่วยให้สถานการณ์จบ กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดคือตัวนายกฯ ลาออก และเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกผู้ที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามรัฐธรรมนูญเดิม

ทางออกหรือปาหี่! วิปรัฐบาล-วิปฝ่ายค้าน ถกเดือด


ก็กลับมาที่คำถามเดิม ถ้านายกฯ อีกท่านขึ้นมาแทนอยู่ในรัฐบาลนี้ จะแก้ปัญหามั้ย
ชลน่าน : คนที่จะถูกเลือกมาเป็นนายกฯ อย่างน้อยเขาก็มีความหวัง นั่นหมายถึงเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ จะเป็นนายกฯ ประยุทธ์กลับมาหรือไม่ก็เป็นไปได้ แต่ถ้าเป็นคนใหม่ที่ชื่อประยุทธ์ไม่ได้แน่ แต่เป็นคนใหม่ที่ชื่อคนอื่นผมยังพอมีความหวังว่าเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ จัดตั้งครม.ใหม่หมด แถลงนโยบายใหม่หมด พันธะสัญญาที่คุณต้องรับว่าคุณต้องไปแก้รัฐธรรมนูญ มีจังหวะชัดเจน เลยเกิดความคาดหวังว่าจะแก้ได้

ถ้ามีคนแนะนำให้ไปแก้กติกาสว.ทิ้งก่อน หลังจากนั้นนายกฯ ลาออก ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ เซ็ตซีโร่เลย มีโอกาสเป็นไปได้มั้ย

ชัยวุฒิ : ก็เป็นไปได้ คือปัญหาอยู่ที่รัฐบาลมั้ยก็อยู่ด้วยส่วนหนึ่ง เพราะทุกครั้งที่มีฝ่ายรัฐบาล ต้องมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล มีโอกาสออกมาคัดค้าน ชุนุมไม่เห็นด้วย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ในอดีตเป็นมาตลอด แต่วันนี้ปัจจัยเรื่องรัฐบาลเป็นแค่ส่วนหนึ่งถ้าติดตามการชุมนุม ใน 100 นาที ผมว่าเขาโจมตีรัฐบาล 10-15 นาที ที่เหลือเขาโจมตีสถาบัน ไปไกลกว่านั้น ผมว่าวันนี้ปัญหาไม่จบแค่รัฐบล มันมีเรื่องปฏิรูปสถาบัน ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเราวิตกกังวลกันมาก เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และอยากแก้ปัญหานี้ให้จบ เพราะถ้าแก้ปัญหานี้ไม่จบ ถึงเปลี่ยนรัฐบาลก็ไม่จบ แม้แต่เรื่องรัฐธรรมนูญ เราก็แก้ทุกเรื่อง ยกเว้นหมวด 1 คือเป็นราชอาณาจักรหนึ่งเดียวแบ่งแยกไม่ได้ หมวด 2 เรื่องพระมหากษัตริย์ แต่ร่างของประชาชนฝ่ายชุมนุมที่เขาเสนอเข้ามา ซึ่งไม่ตรงกัน เขาต้องการแก้เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ประเด็นนี้เป็นประเด็นใหญ่ของประเทศ เป็นเรื่องที่เราเป็นห่วงมากกว่า

ชลน่าน : ตรงที่ท่านเลขาฯ วิปรัฐบาลพูดมาว่า 100 นาทีพูดถึงรัฐบาลแค่ 10 นาที คือเสนอข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเขามองเชิงระบบทั้งหมด แต่การเปิดด้วย 165 ต้องยอมรับว่ารัฐบาลมีปัญหาสำคัญพูดถึงคนอื่นไม่ได้ รัฐบาลต้องรับเต็มๆ จะปฏิเสธว่าไม่ใช่ปัญหาของคุณไม่ได้ จริง มีปัญหาอย่างอื่น แต่เมื่อคุณเปิด 165 คุณต้องบอกว่าคุณมีปัญหาสำหรับการบริหารราชการแผ่นดิน ถ้าการชุมนุมคุณจัดการดีบริหารดี เหตุการณ์เกิดก่อนโควิดและหลังโควิด เราเสนอตลอด แต่คุณไม่ทำ คุณปล่อยปละละเลย ไม่รับข้อเรียกร้อง ไม่มีการพูดคุย จะแก้รัฐธรรมนูญก็จังหวะดึงๆ หยุดๆ ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาเรื่อยๆ อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องโทษรัฐบาล ไม่โทษรัฐบาลไม่ได้ อีกเรื่องคำว่าการโจมตีรัฐบาล การแก้หมวด 1 หมวด 2 แก้เรื่องสถาบัน ตรงนี้ไม่มีประเด็นหรอกครับ คือคนเรียกร้องว่าอย่าไปใส่ เขาเพียงต้องการให้เปิดกว้าง จะแกไม่แก้อยู่ที่สสร. ไปยกร่างมาและผ่านประชามติอีก ดังนั้นประเด็นคำพูดว่าโจมตีสถาบัน ในสภาสุ่มเสี่ยงมาก เราไม่อยากให้พูด เพราะจะทำให้การเข้าใจคลาดเคลื่อน เอาข้อเท็จจริงเป็นหลักดีกว่า

จะแก้ไขปัญหายังไง
ชัยวุฒิ : ต้องมองที่ต้นเหตุปัญหาก่อน ที่ขบวนการเคลื่อนไหว มีการขยายตัวยกระดับเกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง หลักๆ มีสองเรื่อง เรื่องเทคโนโลยีโซเชียลมีเดีย ทำให้พี่น้องประชาชนสื่อสารกันได้อย่างกว้างขวาง ผ่านเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรมต่างๆ นานา มีการแชร์ข้อมูลในนั้น บิดเบือนบ้าง ใส่ร้ายก็เยอะ นี่ส่วนหนึ่งจากโซเชียลมีเดีย อีกส่วนคือนักการเมืองบางกลุ่มบางพรรคใช้กระแสเกี่ยวกับสถาบันไปสร้างเงื่อนไขเข้าสู่อำนาจ เลยเป็นการรวมกันของสองกลุ่มเป็นการรวมพลังกันเกิดขึ้น สร้างความรู้สึกว่าต่อไปคนรุ่นใหม่ หรือเยาวชนจะไม่มีอนาคตที่ดี เพราะมีบางสิ่งกดทับเขาอยู่ อย่างนี้เป็นต้น ไปสร้างทัศนคติให้เยาวชนเลยเกิดความรู้สึกเกลียดชังออกมา ผมว่าเราต้องหยุดสองสิ่งนี้ หนึ่งแก้ปัญหาเรื่องโซเชียลมีเดีย การสื่อสาร ให้กลับมาอยู่ในร่องในรอย ต้องดึงอำนาจอธิปไตยไซเบอร์กลับมาเป็นของคนไทยให้ได้ เพราะวันนี้อยู่ในมือต่างชาติหมดแล้ว เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์

จะไปไล่บล็อกเขาเหรอ
ชัยวุฒิ :บล็อกไม่ได้หรอกครับ ถ้าปิดไปหนึ่งเพจ เขาก็เปิดเพจใหม่ คนเดิมนี่แหละ

จะไม่ให้มีเฟซบุ๊กในประเทศไทยเหรอ
ชัยวุฒิ : อันนี้เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าเป็นปัญหา ซึ่งคนไทยต้องมาคุยกัน เพราะข้อมูลที่แพร่หลายอยู่ในเฟซบุ๊ก หรือโซเชียลมีเดียมีหลายเรื่องที่เป็นอาวุธร้าย

จะหนักกว่าเดิมหรือเปล่าถ้าไปตัดเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ จะหนักกว่าเดิม
ชัยวุฒิ : ผมตั้งเงื่อนไขให้พี่น้องได้รับฟัง สองเรานักการเมืองต้องไม่เอาสถาบันพระมหากษัตริย์มายุ่งกับการเมือง เป็นเรื่องที่ต้องคุยกัน

ถ้าไม่พูดในมุมสถาบัน พูดถึงตัวนายกฯ มีโอกาสมั้ยที่ท่านจะถอยก้าวนึงด้วยการลงมา แล้วหาคนอื่นมาแทน หริอไปแก้เรื่องกติกาก่อน เรื่องสว.
ชัยวุฒิ : เรื่องนายกฯ ผมคงตอบแทนท่านไมได้ แต่ในฐานะเราเป็นสมาชิกสภา มีหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ เราเห็นพ้องต้องกันว่าต้องแก้ไขแน่นอน เพื่อประโยชน์บ้านเมือง

ผู้อภิปราย สองชื่อที่เอ่ยให้ได้ยิน คุณปารีณา คุณสิระ เรื่องจะจบได้จริงๆ เหรอ
ชัยวุฒิ : ต้องลองดู ในที่เขาออกข่าวมาอาจเป็นอย่างนั้น แต่อภิปรายในสภาเขาอาจพูดในทางที่เป็นประโยชน์ ในทางสร้างสรรค์ก็ได้ อย่าไปดูถูกกัน

ไม่ได้ดูถูก แต่มีส่วนนึงมองว่าเรากำลังหาทางรอมชอม สองท่านนี้ท่านก็ฮาร์ดคอร์เหมือนกัน
ชัยวุฒิ : ในภาพรวมเราก็กำชับให้ทุกคนพูดในทางสร้างสรรค์ อย่าไปโจมตี และให้นำเสนอสภาพปัญหาที่อยากให้รัฐบาลแก้ไข ลองดูครับ ได้คุยกับทั้งสองท่าน ท่านก็มีเนื้อหาในการอภิปรายที่ดี ไม่ได้ไปโจมตีใคร

ปัญหาที่หาทางแก้ พรุ่งนี้ต้องมีคำตอบ
ชัยวุฒิ :ครับ อย่างน้อยต้องมีทางออกให้ประเทศไทย

คนข้างนอกลือกันว่าการที่นายกฯ ออกมาประกาศยกเลิกสถานการณ์ร้ายแรง เหมือนยิ่งทำให้สองฝ่าย ทั้งม็อบปัจจุบันกับม็อบใส่เสื้อสีเหลืองจะมีปัญหากันเกิดขึ้น

ชัยวุฒิ : ผมว่าไม่ใช่วัตถุประสงค์หรอกครับ ผมว่าเป็นเรื่องที่ท่านพูดว่าเราต้องถอยคนละก้าว คือยกเลิกพ.ร.ก.เพื่อให้ไม่เป็นบทลงโทษหรือกีดกันการชุมนุม เพื่อให้การชุมนุมดำเนินได้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าท่านถอย ปล่อยตัวแกนนำผู้ชุมนุมบางคน ผมว่าเป็นการส่งสัญญาณว่าท่านพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับผู้ชุมนุมมากกว่า

ม็อบปะทะม็อบจะวางแผนรับมือ ดูแลยังไง
ชัยวุฒิ : เป็นหน้าที่ทุกฝ่าย ทั้งผู้ชุมนุมและรัฐบาลต้องหลีกเลี่ยง

กังวลใจมั้ย
ชัยวุฒิ : ผมดูแล้วไม่ถึงขั้นนั้นเราคนไทยด้วยกัน การต่อสู้อาจเห็นต่างกัน แต่คงไม่ถึงขั้นมาปะทะกัน

มองยังไง
ชลน่าน : วิธีแก้ไม่ได้ยาก เพราะข้อเรียกร้องก็ไม่ได้ยากอะไรเลย หลายคนได้ยินคำว่าปฏิรูปสถาบันดูเหมือนยาก คำว่าปฏิรูปเป็นคำพื้นฐานธรรมดา หลายคนอาจไปแปลงถ้อยคำว่าเป็นการจาบจ้วงล่วงละเมิด ซึ่งไม่ใช่ การปฏิรูปคือเปลียนแปลงให้ดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป มีนวัตกรรมใหม่เข้ามาเสริม ถ้ามองมุมนี้ทุกคนที่อยู่ในประเทศนี้ ถ้าเห็นระบบไหน สถาบันใดที่อยู่กับที่ ไม่ตอบสนองต่อสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ก็ต้องปฏิรูป เป็นเรื่องธรรมดา แต่ประเด็นว่าจะแก้ยังไง อย่าคิดว่าเป็นปัญหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทุกฝ่ายต้องเห็นปัญหาร่วม และต้องหาทางออกร่วมกัน นายกฯ ถอยคนละก้าว ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง อะไรที่เป็นปัญหาปัจจุบันก็แก้ แก้รัฐธรรมนูญไม่ยากเลย การปฏิรูปสถาบันใครจะไปทำนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ไม่ใช่หน้าที่ แต่เขาเรียกร้องให้ผ่านกลไกให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย ให้สถาบันอยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง ไม่ใช่ว่าไปแก้ไปเขียนรัฐธรรมนูญที่ละเมิดสถาบัน

สุดท้ายแล้วถ้าเกิดคุมไม่อยู่ ม็อบปะทะกัน เรื่องจะไปถึงขั้นรัฐประหารมั้ย
ชัยวุฒิ : ก็เป็นไปได้ในทางการเมือง ถ้าบ้านเมืองวุ่นวายมาก แต่คิดว่าคงไม่ถึงจุดนั้น น่าจะหาทางออกกันได้ ถ้าเจรจาตกลงกันได้ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างก็จะเข้าระบบ เชื่อว่าเรื่องนี้จะจบได้ด้วยการพูดคุยกัน แก้รัฐธรรมนูญ และหาทางออกร่วมกัน

พรุ่งนี้มีคำตอบ ต้องหาจุดกึ่งกลาง
ชลน่าน : รัฐประหารจะไม่มีเกิดขึ้น ถ้าไม่มีวัตถุประสงค์ของผู้ใช้อำนาจ การที่ม็อบชนม็อบเป็การเติมเชื้อไฟในกองไฟ ต้องช่วยกันดึงออก พฤติกรรมการเติมเข้าไปถ้าฝ่ายรัฐบาลไม่เติมก็หยุดได้ ถ้าจะใช้เหตุรัฐประหารก็เติมลงไป นั่นเป็นปัญหาและหายนะประเทศ ปัญหาจะใหญ่กว่านี้อีก

ชัยวุฒิ : ผมเห็นด้วย

ทางออกหรือปาหี่! วิปรัฐบาล-วิปฝ่ายค้าน ถกเดือด


ทางออกหรือปาหี่! วิปรัฐบาล-วิปฝ่ายค้าน ถกเดือด


ทางออกหรือปาหี่! วิปรัฐบาล-วิปฝ่ายค้าน ถกเดือด


ทางออกหรือปาหี่! วิปรัฐบาล-วิปฝ่ายค้าน ถกเดือด


ทางออกหรือปาหี่! วิปรัฐบาล-วิปฝ่ายค้าน ถกเดือด

ชมคลิป
VVV
VV
VV
V
VV
V
VV
V
VVVVV


เครดิตแหล่งข้อมูล : รายการ โหนกระแส


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์