
เปิดใจแม่เด็กหอวัง แจ้งความรองผอ.ห้ามลูกเข้าเรียนเพราะแต่งไปรเวท

ปริญญ์ : "อยากให้มองว่ากฎเกณฑ์อะไรก็แล้วแต่ที่โรงเรียนมี เราก็ต้องเคารพกฎเกณฑ์ในเมื่อพร้อมใจส่งลูกไปเรียนโรงเรียนนั้น โรงเรียนมีกฏกติกายังไงก็เคารพกฎเกณฑ์ ผมคิดว่าการมีเครื่องแบบเป็นข้อดี เราได้ปลูกฝังในจิตใจนักศึกษาให้มีระเบียบ วินัย คนแฝงเข้ามาจะได้แยกแยะได้ว่าใครเป็นนักเรียน ไม่ใช่นักเรียน ความเท่าเทียมกัน ถ้าคนฐานะนึงก็จะมีประเด็นปัญหาว่าต้องเปลี่ยนชุดทุกวันหรือเปล่า แต่ผมเห็นว่าอย่างน้อยใน 1-2 วัน ก็ให้พื้นที่เขาสักหนึ่งวัน จะแต่งอะไรที่เป็นตัวตน ก็น่าจะแฟร์ที่ทำได้ แต่ที่แน่ๆ ไม่เห็นด้วยที่เอาประเด็นนี้มาเป็นประเด็นการเมือง หรือเป็นประเด็นที่ทำให้แตกแยกกัน ผมว่าประเด็นนี้เคยถูกยกมาครั้งนึงและเงียบไป หลายโรงเรียนก็ทดลองให้แต่งไพรเวตได้ แต่ไม่ต้องเอามาเป็นประเด็นให้สังคมทะเลาะและแตกแยกกัน"
คนบอกว่าชุดนักเรียนแพงกว่าชุดธรรมดา พ่อแม่ผู้ปกครองบางคนไม่มีเงินพอที่จะซื้อชุดใหม่?
ปริญญ์ : "อันนั้นก็เป็นเรื่องถกเถียงกันได้ แต่ผมมองว่านักเรียน ไปเรียนจันทร์-ศุกร์ 5 วัน นักเรียนมีสองสามชุดก็ใส่วนซ้ำ ซักได้"
เอนเอียงไปทางที่อยากให้แต่งชุดนักเรียน?
ปริญญ์ : "ผมว่าประถม มัธยม ยังคงต้องใส่อยู่ จริงๆ ต่างประเทศเขาก็มีนะ ไม่ใช่ไม่มี"
เหตุผลที่ต่างประเทศมียูนิฟอร์มเพราะอะไร?
ปริญญ์ : "หนึ่งคือเรื่องความปลอดภัย ออกไปซื้อของนอกโรงเรียน เผื่อเกิดอะไรขึ้นจะได้ช่วยและรู้ว่าเป็นโรงเรียนไหน สองระเบียบวินัย เป็นเรื่องปลูกฝังในจิตใจนักเรียนให้มีระเบียบวินัยเท่าเทียมกัน สามอาจเป็นเรื่องวัฒนธรรม หรือประวัติศาสตร์โรงเรียน"

ปริญญ์ : "แต่ละอาชีพก็มีภารกิจที่ต้องปฏิบัติ บางภารกิจการใส่ยูนิฟอร์มจะทำให้สะดวก คล่องตัว มีความชัดเจนมากขึ้น เกิดตร.ไม่ใส่ยูนิฟอร์ม เกิดมีคนมาจับ จะแยกกันยังไง"
การแต่งไพรเวตไป มุมน้องๆ นักเรียน เขาค่อนข้างชอบ เขาได้ใส่ในแบบที่อยากใส่?
ปริญญ์ : "ชอบไม่ชอบก็เป็นความคิดเห็นส่วนตัว เมื่อก่อนตอนเป็นเด็กเราใส่ชุดนักเรียน เราก็คิดว่าเป็นหน้าที่ เราไม่ได้รู้สึกว่าชอบหรือไม่ชอบ อย่างเรื่องตัดผม สมัยผมโรงเรียนให้ตัดเกรียนเต็มที่ อันนั้นมายด์มากกว่า แต่เรื่องชุดนักเรียนไม่ได้มายด์ว่าต้องใส่หรือไม่ใส่"
บางโรงเรียนไม่ให้เข้าเรียน บางโรงเรียนเอาไปขัง?
"ผมว่านักเรียนส่วนใหญ่แต่งตัวใส่ชุดนักเรียนมา มีส่วนน้อยมากใส่ชุดไพรเวตมาเพื่อประท้วงหรือเรียกร้อง ส่วนใหญ่โรงเรียนมีวิธีการรับมือดี ไม่ไปลงโทษก่อน อย่างผอ.โรงเรียนสามเสนวิทยาล้ย มีการพยายามพูดคุยก่อนเกิดเหตุการณ์ ขอความร่วมมือ หลายโรงเรียนพอเกิดเหตุการณ์ขึ้นไม่ได้ทำอะไรรุนแรงเกินไป แต่ถ้าเอาไปขังก็ระวังจะเป็นการละเมิดสิทธิ์"
โรงเรียนหอวังไม่ให้นักเรียนแต่งชุดไพรเวตเข้าเรียน จนผู้ปกครองแจ้งความ มองยังไง?
ปริญญ์ : "ผมเชื่อว่าสองฝ่ายมีสิทธิ์ ก็น่าเห็นใจ แต่ผมว่ากระทรวงศึกษาเขามีก
ฎระเบียบชัดเจน ถ้าไม่ทำตามกฎเกณฑ์ 4 ข้อจะทำอะไรได้บ้าง ตักเตือน ลดคะแนน คุยปรับทัศนคติ พฤติกรรม แต่ให้ทนาย นักกฎหมายคิดเอาดีกว่า แต่หนึ่งในข้อที่ไม่ได้อยู่ในนั้นคือห้ามเข้าโรงเรียน อันนี้แรงไปมั้ยต้องไปถกอีกที"
ผอ.มีความผิดมั้ย?
ปริญญ์ : "ต้องไปดูรายละเอียดว่าใครเป็นคนสั่งการไม่ให้เด็กเข้าโรงเรียน มีข้อเท็จจริงแค่ไหน เพราะบางทีเราฟังข่าวมาอาจเป็นแค่ผิวของเรื่อง อาจมีเรื่องอื่นตามมาที่แม่เด็กทำอะไรบ้างมั้ย ต้องให้ทนายพูดคุยดีกว่า"

นรรัตน์ : "เห็นด้วยว่าไม่ควรบังคับว่าจะแต่งอะไร ควรได้ทั้งหมด เพราะจุดประสงค์โรงเรียนคือเรียนหนังสือ"
วันนี้ลูกชายไปโรงเรียนแต่งเป็นไพรเวตไป ลูกชายเลือกเอง?
นรรัตน์ : "ลูกชายเลือกเองค่ะ"
ก่อนหน้ามีเรื่องนี้ ลูกมีบ่นมั้ยว่าไม่อยากแต่งยูนิฟอร์ม?
นรรัตน์ : "ไม่เลยค่ะ เนื่องจากเขารู้สึกว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ทำไมต้องยูนิฟอร์ม แล้วแม่ก็ต้องเดือดร้อนหาเงินมาซื้อเครื่องแบบ มันควรเป็นสถานที่ให้การศึกษาโดยไม่ต้องมานั่งเครียดเรื่องค่าชุดนักเรียน"
ต้องเปลี่ยนใหม่ทุกเทอมเหรอ?
นรรัตน์ : "ใช่ค่ะ เด็กโตขึ้นทุกเทอม จะใส่ชุดเดิมไม่ได้"
ชุดนึงตกราคาเท่าไหร่?
นรรัตน์ : "เสื้อนักเรียน ถ้าไม่มีคุณภาพก็ 180 บาท ถ้ามียี่ห้อหน่อยก็ 200 กว่าบาท ถ้าชุดลูกเสือ โรงเรียนจะขายชุดละพันสอง แต่ถ้าแม่ไปหาซื้อเองก็แค่ 600 บาท โรงเรียนก็ให้ซื้อที่โรงเรียน แต่กลายเป็นการซื้อของแพง เลยเห็นว่าไม่ควรบังคับ เราอาจยากจนก็ได้"
โรงเรียนบังคับซื้อเหรอ?
นรรัตน์ : "ไม่ค่ะ หมายถึงการแต่งเครื่องแบบโรงเรียนไหนก็ตามไม่ควรบังคับ เพราะเด็กอาจไม่ได้มีตังค์เท่ากันทุกคน ควรใส่อะไรไปเรียนก็ได้"

นรรัตน์ : "เข้าใจค่ะ ชุดไพรเวตเขาก็ใส่ของเก่าก็ได้ เขาหยิบของแม่ ของพี่ไปใส่ได้ แต่วัตถุประสงค์โรงเรียนควรเป็นที่ให้การศึกษา ไม่ใช่ต้องบังคับว่าต้องใส่ชุดแบบนี้ถึงจะเรียนได้ ตอนนี้ที่เป็นประเด็นคือว่าถ้าคุณไม่ใส่ชุดนักเรียน คุณจะไม่สามารถเข้าเรียนได้"
ลูกชายแต่งชุดไพรเวตไปแล้วโรงเรียนต้อนรับยังไง?
นรรัตน์ : "คุณครูบอกว่าไม่มีสิทธิ์เข้าเรียน จนกว่าจะเปลี่ยนเป็นเครื่องแบบ แล้วลูกก็โทรมาตามบอกว่าครูเชิญให้มาพบ แม่ก็เลยไป เขาบอกเป็นระเบียบ ใช่ คุณก็หักคะแนนไง จะหักกี่วันที่เขาทำผิดระเบียบก็ทำไป แต่ไม่ใช่ไม่ให้เข้าเรียนเพราะทำผิดระเบียบ มันมีบทลงโทษของมันอยู่แล้ว ไม่ใช่ทำตามความรู้สึกผู้ใหญ่ไม่ได้"
ใครเป็นคนตัดสินใจไม่ให้ลูกชายเข้าเรียน?
นรรัตน์ : "รองผอ.ค่ะ ก็เลยถามว่าแล้วจะให้ครูมาสอนในห้องประชุมใช่มั้ย เขาก็บอกว่าไม่ใช่ ไม่ให้เรียนเลย เราเลยรู้สึกว่าเป็นกฎหมายประเทศไทยที่โรงเรียนมีหน้าที่ให้การศึกษากับเด็ก แต่มาบอกว่าการไม่ใส่ชุดนักเรียนเด็กจะไม่มีสิทธิ์เรียน เป็นการริดรอนสิทธิเด็กนะคะ"
มีเด็กใส่ไพรเวตไปเรียนกี่คน?
นรรัตน์ : "มีเยอะ แต่สุดท้ายเอาชุดไปเปลี่ยน เพราะเกรงกลัวว่าจะไม่ได้เรียน กลัวพ่อแม่ว่าด้วย เขาก็มีชุดไปเปลี่ยน เอาเสื้อคลุมไป"
เขามีการนัดแนะใส่ชุดไพรเวตก่อนมั้ย?
นรรัตน์ : "มีการบอกว่าจะใส่ชุดแบบนี้กัน แต่ถามว่านัดก็ไม่ใช่ มีการพูดว่าแบบนี้ เพราะเพื่อนๆ ที่บอกจะใส่เขาก็ไม่ได้ใส่กัน เขาก็ใส่เครื่องแบบกันไปปกตินี่แหละ จะบอกว่าเป็นกฎหมู่เป็นเสียงข้างมากเด็กๆ ที่ฮึกเหิมขึ้นมาแม่ว่าไม่ใช่ ซึ่งสุดท้ายโรงเรียนบอกให้เข้าเพราะมีนักข่าวเยอะมาก เลยยอมให้เข้าตอนบ่าย เราก็รู้สึกว่าแบบนี้ไม่น่าจะถูกต้อง คุณไม่มีสิทธิไม่ให้การศึกษาเพียงเพราะไม่มีเครื่องแบบ ทั้งที่มีบทลงโทษ จะหักคะแนน จะทำทัณฑ์บนก็ทำไป จะไล่ออกก็ทำไป แต่ไม่ใช่มาบอกว่าไม่ใส่ชุดไม่ให้เข้าเรียน มันทำไม่ถูกต้อง"

นรรัตน์ : "ใช่ค่ะ ไปสน.พหลโยธินค่ะ เป็นท้องที่โรงเรียนหอวัง"
แจ้งความข้อหาอะไร?
นรรัตน์ : "ถูกรองผอ.ริดรอนสิทธิบุตร เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานประชาชนที่ต้องได้รับการศึกษา อย่างที่บอกไม่ได้มีเงื่อนไขว่าคุณไม่ใส่ชุดแล้วจะไม่มีสิทธิเรียนหนังสือ ตร.ก็รับลงบันทึกประจำวันไว้ว่ามาแจ้งความไว้เพื่อใช้ดำเนินคดีถึงที่สุด"
คุณแม่ไปคนเดียวหรือผู้ปกครองท่านอื่นไปด้วย?
นรรัตน์ : "ไปคนเดียวค่ะ ไม่ได้ไปรอใครอยู่แล้ว ไม่ได้ปรึกษาใคร คิดว่าการมาเถียงกันไม่มีประโยชน์ เสียเวลา ให้กฎหมายดำเนินการไป เหมือนที่บอกว่าผิดระเบียบก็หักคะแนน มีบทลงโทษของมัน อย่าเถียงกัน เรามีเวลาทำอย่างอื่นเยอะแยะ"
มั่นใจแค่ไหนในการแจ้งความหรือแค่โกรธ?
นรรัตน์ : "ถึงที่สุดค่ะ เพราะแม่ว่างค่ะ (หัวเราะ) พี่สาวเป็นทนายความ แล้วก็จบปริญญาตรีปกติ มีการศึกษาหาความรู้ตามความสามารถของตัวเอง และเตรียมทนายไว้แล้ว เพราะพี่สาวเป็นทนายความด้วย"
มีการเจรจากันได้มั้ย?
นรรัตน์ : "มันต้องจบในแนวแค่ว่าใส่ชุดอะไรก็ต้องได้เรียนหนังสือ พรุ่งนี้ลูกอาจใส่เครื่องแบบก็ได้ ไม่ใช่เลิกใส่เครื่องแบบ คุณครูต้องเข้าใจใหม่ก่อน ใส่ชุดอะไรก็ต้องได้เรียนหนังสือ ลูกอาจใส่ยูนิฟอร์มจนเรียนจบก็ได้ พ้อยท์ของเรื่องไปกันผิดทาง เลยทำให้เกิดการต่อต้านในเด็กหลายคน ประเด็นคือไม่ว่าอะไรก็ต้องได้เรียนหนังสือ"

นรรัตน์ : "เดี๋ยววันหนึ่งเขาจะได้เรียนรู้เอง ว่าใส่ขาสั้นจุ๊ดจู๋ ใส่ส้นสูง ชุดแบบนี้ไม่เหมาะกับกิจกรรมนั้นๆ เป็นหน้าที่ที่เราต้องสอนลูกว่าแบบนี้ไม่เหมาะกับการไปเรียนหนังสือ จะโป๊โน่นนี่ เป็นหน้าที่ครูหรือพ่อแม่ที่จะสอนลูกว่าแบบไหนถึงจะเหมาะสม ถูกกาลเทศะ ถ้าเขาไม่เชื่อเดี๋ยวเขาจะได้เรียนรู้เอง"
พอไม่มียูนิฟอร์มก็ต้องนั่งรบกับลูกเรื่องแต่งชุดไปให้เหมาะสมอีก?
นรรัตน์ : "การเป็นพ่อแม่เราต้องตั้งสติก่อนว่าเรามีหน้าที่อบรมสั่งสอน ไม่ได้มีหน้าที่เป็นศัตรูกับลูก การรบจะไม่เกิดขึ้นถ้าเริ่มต้นอย่างถูกต้อง เหมือนส.ส.หลายคนชอบก็อปปี้คำพูดใครมาว่าติดกระดุมเม็ดแรกผิดมันก็ผิดหมด ก็ต้องพูดแบบนั้นแหละค่ะ ถ้าเริ่มต้นถูกจะค่อยๆ เข้าที่เข้าทางไป ไม่ใช่เริ่มต้นไปรบกับลูก ถ้าจะสั่งสอนต้องมีวิธีรับมือตั้งแต่แรก"
คุณแม่รับมือได้?
นรรัตน์ : "ใช่ค่ะ พ่อแม่ทุกคนไหวหมดแหละ แต่ถูกความลำเค็ญ กดดัน ทำให้อารมณ์เสีย และพูดกับลูกได้สั้นมาก"
ฟ้องรองผอ. เล่นใหญ่ไปมั้ย?
นรรัตน์ : "จริงๆ มีมากกว่านี้ เคยมีคดีแล้วกับรองผอ. ข้อหาหมิ่นประมาท ไม่เชิงเข้าหน้าไม่ติด เราพูดกันเรื่องทรงผม แล้วอยู่ๆ รองผอ. ถามว่าคุณแม่ไปพบแพทย์บ้างหรือเปล่า เริ่มต้นไม่สวย มีเรื่องนี้จริง เพราะลูกเป็นลูกครึ่ง ผมเขาสีน้ำตาล แต่ครูมาบอกว่าย้อมสีผมไม่ได้นะ แล้วมาหยิบผมเด็กดูทุกวันๆ ลูกกลับมาบ้านลูกบอกว่าย้อมผมดำให้หน่อย ไม่อยากให้ใครทัก ไม่อยากเป็นจุดเด่น นี่เจ็บปวดมั้ย เด็กรู้สึกไม่ไหวแล้วกับการที่ครูมาดูทุกวันว่าทำไมต้องย้อมผม"
พอคุณแม่ไปแจ้งความ ไม่กลัวว่าคนเกิดปัญหาคือตัวลูก?
นรรัตน์ : "ได้คุยกับลูกนะคะว่าแม่มีความเห็นว่าต้องทำแบบนี้ ลูกเดือดร้อนมากมั้ย ถ้าลูกเดือดร้อน อยู่ในโรงเรียนไม่ปลอดภัยแม่จะหยุด ลูกบอกแม่มีหน้าที่ทำให้เขาได้เรียนหนังสือ แม่ไปจัดการวิธีไหนก็ได้ให้เขาได้เรียนหนังสือ ลูกไม่ได้ว่าอะไร แม่จะลุยหรือถอย แต่แม่ต้องส่งเสริมการศึกษาให้ลูกแค่นั้นเอง"
ผู้ปกครองคนอื่นมาเป็นแนวร่วมมั้ย?
นรรัตน์ : "ไม่มีค่ะ ไม่มีแม้แต่วิญญาณค่ะ (หัวเราะ) ถ้าครูจะหักคะแนนทุกวันจนหมดก็ไม่มีปัญหา แต่เขาต้องได้เรียน"

ปริญญ์ : "เห็นใจทั้งสองฝ่าย ผมคิดว่าโรงเรียนเองก็มีกฎเกณฑ์มีระเบียบ เรื่องริดรอนสิทธิ เป็นครั้งแรกหรือเปล่าที่ได้ใส่ชุดไพรเวตมาโรงเรียน ก็อาจมีวิธีการอื่นๆ เช่นตักเตือน พูดคุยกัน ส่วนตัดคะแนนเป็นสเต็ปที่สองก็ได้ ซึ่งเขาก็มีประเด็นขัดแย้งอื่นๆ กันก่อนอยู่แล้ว ก็เป็นประเด็นส่วนตัวด้วย"
ผอ.หลายๆ โรงเรียนไม่รู้จะทิศทางไหนดี อยากแนะนำยังไงเรื่องรับมือ?
ปริญญ์ : "ถ้าผมเป็นผอ. อยากลองดูก่อนสักหนึ่งหรือสองอาทิตย์แรกว่าเป็นยังไง เพราะไม่เชื่อว่าสิ่งที่นักเรียนทำ อยากทำไปตลอด อาจเป็นกระแสชั่วครั้งชั่วคราว อาจมีประเด็นอื่นๆ บ้าง ก็ต้องมีพื้นที่ให้เขาด้วย แต่ไม่ควรหามาตรการที่มากเกินควรมาจัดการเรื่องนี้ เพราะมีเรื่องอื่นที่กระตุกต่อมเขาให้มีจิตสำนึก คำนึงถึงวินัย คำนึงถึงวงกว้างในอนาคตต่อไป เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไปบังคับ หรือลงโทษเขาจนเกินควร ตักเตือนได้ แต่หวังว่าคงไม่ใช่เรื่องราวใหญ่โตขึ้นมา"

Love Attack เทศกาลความรักแบบนี้ บอกอ้อมๆให้เขารู้กัน
Chocolate Dreams สาวชั่งฝันและช็อคโกแลต กับหนุ่มหล่อ ไม่แน่คุณอาจจะได้เจอแบบนี้ก็ได้
Love You Like Crazy เพลงเพราะๆ ที่ถ้าส่งให้คนที่เรารัก โลกนี้ก็สีชมพูกันทีเดียว