ไปฟัง หมอเก่ง วิเคราะห์โควิดรอบใหม่ กับโอกาสที่ไทยจะได้ฉีดวัคซีน


ไปฟัง หมอเก่ง วิเคราะห์โควิดรอบใหม่ กับโอกาสที่ไทยจะได้ฉีดวัคซีน

หมอเก่ง หรือ นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และรองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข ได้วิเคราะห์สถานการณ์โควิดระลอกใหม่ว่าจะไปในทิศทางไหน รวมถึงโอกาสที่จะได้ฉีดวัคซีนของคนไทย

การกลายพันธุ์ของโควิด-19

- สายพันธุ์ที่อู่ฮั่นคือสายพันธ์ L ต่อมาในช่วงมกราคม 2563 มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ S จากนั้นแตกเป็นสายพันธุ์ G กับ V สายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในไทยตอนนี้คือสายพันธุ์ G ซึ่งระบาดค่อนข้างไว และแพร่พันธุ์ไปแล้ว 3 ใน 4 ของโลก

- การกลายพันธุ์เกิดจากการที่มันระบาดเยอะ จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง เมื่อไวรัสเข้าไปในเซลล์แล้วสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ ยิ่งมันสร้างซ้ำ ๆ เป็นล้าน ๆ ครั้ง ก็เกิดความผิดพลาดขึ้นได้ และบางครั้งความผิดพลาดนั้นกลับทำให้มันแข็งแกร่งขึ้น และถ่ายทอดความสามารถของมันต่อไปได้

- ส่วนหนึ่งที่สายพันธุ์นี้แพร่กระจายง่ายขึ้น เพราะคนที่ติดเชื้อไม่ค่อยมีอาการ ทำให้ยังออกไปใช้ชีวิตตามปกติ และกลายเป็นพาหะนำโรคโดยไม่รู้ตัว ส่วนสายพันธุ์เดิมผู้ติดเชื้อมีอาการมากกว่า จึงมักนอนซมอยู่บ้าน การแพร่ระบาดจึงต่ำกว่า

- อาการของผู้ติดเชื้อสำหรับสายพันธุ์นี้ก็ยังเหมือนสายพันธุ์เดิม คืออาการเหมือนคนเป็นหวัด แต่เปอร์เซ็นต์ความรุนแรงและการแสดงอาการจะน้อยกว่าของเดิม

- สำหรับการรักษา ส่วนใหญ่ไวรัสไม่มียาฆ่าเชื้อจำเพาะ ไม่เหมือนยาฆ่าเชื้อราหรือยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นการรักษาโควิดก็ใช้ยาต้านไวรัสที่มีอยู่แล้ว และรักษาตามอาการเป็นหลัก

การระบาดระลอกสอง

- การระบาดระลอกสองถือเป็นความปกติ เพราะโรคระบาดจะไม่จบในคลื่นเดียว มันจะมีคลื่นสองเสมอ สุดท้ายแล้วเราอาจต้องอยู่กับโควิดตลอดไป แต่มันอาจกลายเป็นโรคตามฤดูกาลคล้ายไข้หวัดใหญ่

- การระบาดระลอกแรกไม่ได้เกิดจากความบกพร่องของประชาชน การระบาดระลอกใหม่ก็เช่นกัน ประชาชนดูแลตัวเองเป็นอย่างดี การ์ดเราไม่ตก คนไทยแทบจะร้อยละร้อยใส่หน้ากาก

ควรล็อกดาวน์หรือไม่

- หมอเก่งมองว่าการล็อกดาวน์ตอนระลอกแรกนั้นถูกต้องแล้ว เพราะตอนนั้นข้อมูลเกี่ยวกับโรคยังน้อย แต่สายพันธุ์ใหม่ความรุนแรงน้อยกว่าเดิม ควรป้องกันกลุ่มเปราะบางคือผู้สูงอายุเป็นพิเศษ ส่วนคนที่แข็งแรงอาจติดเพิ่มขึ้นบ้าง แค่ควบคุมให้อยู่ในระดับความสามารถที่จะรักษาได้ของโรงพยาบาลและหมอในประเทศ

- สิ่งที่น่ากังวลคือ ถ้าโควิดระบาดตู้มเดียวเป็นล้าน ๆ คน คนที่อาการหนักต้องเข้าไอซียูก็จะเพิ่มขึ้น ถ้าผู้ป่วยเกินความสามารถที่จะรองรับได้ เช่น มีผู้ป่วย 20 คน มีห้องไอซียูแค่ 10 ห้อง อัตราการเสียชีวิตก็จะสูงขึ้น

- อย่างไรก็ตาม หมอเก่งมองว่ามาตรการทางสาธารณสุขกับมาตรการทางเศรษฐกิจควรต้องสมดุลกัน ถ้าเรากดตัวเลขผู้ติดเชื้อให้เป็น 0 หรือกดให้น้อยที่สุด แต่เศรษฐกิจพังหมดก็ไม่ได้

ติดโควิดแล้วปอดจะไม่กลับมาเหมือนเดิมจริงหรือไม่

- ไม่เสมอไป โควิดมีหลายดีกรี ตั้งแต่กลุ่มที่ไม่มีอาการเลยประมาณ 80% มีอาการเล็กน้อย 15% อาการหนัก 3-4% และอัตราการตายอยู่ที่ 1-2% แล้วแต่ศักยภาพของโรงพยาบาลและประเทศ

- ในกลุ่มที่ไม่มีอาการเลย ปอดก็จะไม่เป็นอะไร เพราะโรคไม่ได้ลงไปที่ปอด แต่ในรายที่มันลงปอด ซึ่งส่วนใหญ่ต้องเข้าไอซียู ก็เปรียบเสมือนการที่เราเป็นแผล ร่างกายก็ต้องสมานและสร้างขึ้นมาใหม่ ทำให้เกิดแผลเป็น เช่นเดียวกับปอดที่สร้างเนื้อเยื่อขึ้นใหม่ก็เกิดแผลเป็นเช่นเดียวกัน

เด็ก 7 เดือนติดโควิด

- คนทุกวัยสามารถติดโควิดได้ แต่ในช่วงแรกไม่มีรายงานว่าเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ ติดโควิดแล้วเสียชีวิต ทำให้วงการแพทย์สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น

- ต่อมามีการศึกษาจนพบว่า โควิดมีแม่กุญแจที่ต้องไขกุญแจเข้าเซลล์ แต่เซลล์ของเด็กไม่มีรูกุญแจนั้น เพราะเซลล์ของเด็กยังไม่ได้พัฒนาตัวนี้ขึ้นมา มันจึงเสียบเข้าเซลล์ของเด็กไม่ได้

- แต่ต่อมาประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 เริ่มมีรายงานว่ามีบางโรคที่เกิดขึ้นในเด็กพร้อมโควิด เช่น เป็นไข้เลือดออกพร้อมโควิด ทำให้เด็กอาการหนักขึ้น และมีรายงานว่าเด็กเสียชีวิตได้

โอกาสที่จะได้ฉีดวัคซีนของคนไทย

- ตอนนี้ไทยกำลังทำอยู่ 3 ทาง ทางแรก ไทยผลิตเอง ซึ่งมีหลายที่กำลังทำอยู่ เช่น จุฬาฯ มหิดล สวทช. และภาคเอกชน ซึ่งของจุฬาฯ ก้าวหน้ามากที่สุด แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่มีเจ้าไหนเข้าสู่การทดลองในคน ยังทดลองในสัตว์อยู่ และการทดลองในคนก็มี 3 เฟสอีกเป็นอย่างน้อย ดังนั้นหมอเก่งจึงมองว่าหนทางนี้ยังค่อนข้างห่างไกล

- ทางที่ 2 ถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างชาติมาผลิต ซึ่งรัฐบาลไทยได้เซ็นสัญญากับ ‘สยามไบโอไซเอนซ์' และ ‘แอสตร้าเซนเนก้า' (บริษัทยาสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน) ไปเมื่อตุลาคม 2563 เมื่อไหร่ที่แอสตร้าเซนเนก้าทำเสร็จ ก็จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เรา แล้วสยามไบโอไซเอนซ์จะนำมาผลิตในประเทศไทย

- ทางที่ 3 คือการซื้อวัคซีนของต่างชาติมาเลย ซึ่งไทยจองไปแล้ว 6-8 พันล้านบาท สามารถฉีดให้ประชาชนได้ประมาณ 20% ซึ่งหมอเก่งมองว่ายังน้อยเกินไป

- ตอนนี้สิงคโปร์ได้วัคซีนมาแล้วและเริ่มฉีดให้ประชาชนแล้ว โดยรัฐบาลสิงคโปร์รับรองต่อประชาชนว่า ภายในปลายปีหน้าประชาชน 100% จะต้องได้รับวัคซีน

- ส่วนของไทยตั้งเป้าไว้ว่า 50% ของประชากรจะต้องได้รับวัคซีนภายใน 3 ปี (อ้างอิงจากการรายงานของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ) ซึ่งหมอเก่งมองว่าช้าไปหน่อย

- หมอเก่งบอกว่าที่พูดมาทั้งหมดไม่ใช่เพื่อตำหนิหน่วยงานในประเทศ หมอไทยมีศักยภาพมาก แต่ปัญหาคือความล่าช้าของราชการรวมศูนย์ ตอนนี้งบวิจัยในประเทศไทยไม่ได้แยกเป็นหน่วย แต่มารวมอยู่ที่กองเดียว คือกองทุนของ สกสว. (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) และทุกคนต้องไปของบจาก สกสว. อีกทีหนึ่ง ทำให้ล่าช้า



คลิป
vvvvvvv
vvvv
vv
v


เครดิตแหล่งข้อมูล : FB Poetry of Bitch


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ดูดวง เลขบัตรประชาชน คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์